สถิติและงานวิจัยสำหรับรังสีเทคนิค
ผศ.สุชาติ
เกียรติวัฒนเจริญ
ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
งานวิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นงานวิชาชีพเฉพาะที่ถือเป็นงานที่สำคัญต่อสุขภาพประชาชน
อันหมายถึงชีวิตและสุขภาวะผู้ป่วย จำเป็นอย่างยิ่งที่นักรังสีการแพทย์
และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการที่ทันสมัยยิ่งๆขึ้นไป
ทั้งนี้ในปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย หรือรักษาโรค
มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นไปเรื่อยๆ เทคนิควิธีการตรวจ รักษาก็พัฒนาไปมากขึ้น
ดังนั้นนักวิชาชีพก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยี วิชาการต่างๆ
เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ป่วย และผู้รับบริการให้มากที่สุด
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ผู้เขียนตระหนักเสมอตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักรังสีเทคนิค
ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า
การทำงานบริการผู้ป่วยซึ่งเป็นงานปฏิบัติที่ต้องควบคู่กับวิชาการเสมอ
นั่นคือแต่ละครั้งที่ให้บริการจะต้องทำให้งานนั้นเกิดประโยชน์จากการใช้ความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ
การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าเรื่องฟิล์มเสีย กระบวนการล้างฟิล์มมีปัญหา เครื่องมือที่ใช้มีปัญหา
หรือข้อจำกัดใดๆ ในการทำงาน
ผู้เขียนและบุคลากรที่ทำงานร่วมกันในขณะนั้นมักจะระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาด้วยเหตุผลทางวิชาการเสมอมา
ทำให้ยังมีความประทับใจอยู่ในความทรงจำเสมอมา
อย่างไรก็ตามหลักคิดแบบนี้ไม่ได้ล้าสมัยเลยสำหรับการทำงานในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะงานด้านรังสีการแพทย์
จำเป็นต้องใช้การปฏิบัติควบคู่ความรู้ทางวิชาการและการติดตามความก้าวหน้าเทคโนโลยีสม่ำเสมอยังเป็นความจำเป็นสำหรับบุคลากรทุกคน
ทุกวิชาชีพ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักรังสีการแพทย์ต้องทำคือการบันทึก ข้อมูลทางวิชาการต่างๆ
ที่ได้ใช้ ได้ปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม หรือสามารถแก้ปัญหาได้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้งานเครื่องเอกซเรย์แบบดิจิตอล CRพบว่าจะให้ภาพที่มี
Noise สูงมาก ที่ 120kV. 2 mAS.แต่เมื่อเพิ่ม
mAS. เป็น 4 mAS
แล้วภาพดีขึ้นแต่ผู้ป่วยรับ dose เป็นเท่าตัว
จึงแก้ปัญหาโดยการใช้ kernel filter ปรับ post
processing image adjustment ช่วยในการปรับภาพแทนการเพิ่ม mAS ก็จะทำให้ภาพดีขึ้น เป็นต้นเมื่อเรียบเรียงให้เป็นระบบ
ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่ใช้เทคนิคการปรับภาพช่วยแทนการเพิ่ม mAS
ค่าทางพารามิเตอร์ที่ใช้ในการปรับภาพ ผลการประเมินจากรังสีแพทย์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ก็จะกลายเป็นผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อวงการนั่นคือ
ผู้ที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาลอื่นก็สามารถนำเอาวิธีการนี้ไปใช้ประโยชน์ได้
โดยไม่ต้องเสียเวลาทดลองใหม่
ส่วนผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ก็ได้ประโยชน์จากการเสนอผลงานผ่านสื่อสาธารณะเช่น วารสาร
การนำเสนอประชุมวิชาการ แล้วก็สามารถนำไปเลื่อนระดับงานได้
ส่วนผู้ป่วยก็ได้รับประโยชน์โดยตรงซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการวิจัยครั้งนี้คือ
ได้รับปริมาณรังสีน้อยลงโดยที่การวินิจฉัยโรคยังถูกต้องแม่นยำเช่นเดิม
ผู้เขียนยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าประโยชน์ของงานวิจัยที่ดีควรเป็นงานวิจัยที่สามารถไปใช้ในการทำงานจริงได้
และเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับนักรังสีการแพทย์
(นักรังสีเทคนิค) บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการทำงานจะเจอคำถามหลักๆ คือ
จะทำวิจัยเรื่องอะไรดี
กำลังทำงานวิจัยอยู่แต่ไม่รู้จะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร วิเคราะห์ข้อมูลไม่รู้จะถูกหรือเปล่า
นอกนั้นก็อาจเป็นคำถามปลีกย่อยในเรื่องเทคนิคการเก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่างที่เลือก
หรือแม้แต่จะเริ่มเขียนโครงร่างการวิจัยอย่างไร
เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆ
เพราะเมื่อทำงานไปนานๆ ก็ต้องการสร้างผลงานให้เกิดประโยชน์
ผู้เขียนในฐานะที่เป็นนักปฏิบัติมาก่อนก็มีประสบการณ์เช่นเดียวกันมาก่อน
แต่เมื่อผ่านจุดนั้นมาจนกระทั่งได้เป็นวิทยากรแล้วก็คงจะบอกเล่าให้ทราบว่า
ทุกคนในที่นี้สามารถทำวิจัยได้ตอลดเวลาที่ทำงานอยู่ แม้บางแห่งจะเป็นแผนกเอกซเรย์
ของโรงพยาบาลขนาดเล็กของอำเภอก็ตาม หลักคิดของผู้ที่คิดจะทำวิจัยเบื้องต้นคือ
1.เป็นนักคิด
รู้จักคิดที่จะแก้ปัญหาของงานที่ทำอยู่
หรือหากงานที่ทำไม่มีปัญหาก็คิดเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ก้าวหน้ามากขึ้น
คิดเพื่อให้ผลงานที่คิดเกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการ
โดยกระบวนการคิดต้องยืนอยู่บนข้อจำกัดของความเป็นไปได้ทั้งเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์
งบประมาณ แหล่งทุนวิจัย และความร่วมมือ
รูป 1 แสดง
EDRtechnology ของบริษัท Fuji ที่ช่วยให้ได้ภาพที่มีคุณภาพที่ดี
จากรูปที่ 1 จะเห็นว่าทำให้เกิดความคิดว่าแล้วเทคโนโลยีนี้คืออะไร
ทำงานอย่างไร เราเข้าใจมันมากน้อยแค่ไหน หากไม่มีเครื่องที่มีเทคโนโลยีนี้ใช้เราจะลดโดสให้ผู้ป่วยได้อย่างไร
จะเห็นว่าหากเป็นนักคิดแล้วจะช่วยให้เกิดคำถามมากมายในสมองทันทีที่ได้อ่านข้อมูลนี้
แต่หากไม่ใช่นักคิดแล้ว ก็คงเพียงแต่อ่านให้รู้ว่า EDR ลดโดสให้ผู้ป่วยได้เท่านั้นเอง
2. เป็นนักเขียน การเขียนบันทึก เขียนในสิ่งที่พบทั้งปัญหา การแก้ไข รวบรวมไว้ให้เป็นระบบ
แล้วเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รู้เมื่อผลงานนั้นเป็นรูปธรรม
ก็จะช่วยให้เกิดประกายความคิดในการปรับเปลี่ยนบันทึกให้เป็นผลงานวิจัย
เกิดหัวข้อวิจัย โดยทำให้เป็นระบบตามระเบียบวิธีวิจัยได้ง่ายกว่าการไม่มีจุดตั้งต้นอะไร
3. เป็นนักอ่านนั่นคือผู้ที่ทำงานภาคปฏิบัติแบบนักรังสีการแพทย์ทั้งหลายต้อง
หมั่นอ่านหาความรู้เพิ่มเติมให้ทันเหตุการณ์ทั้งเรื่องเครื่องมือ
ภาพรังสีกับรอยโรคต่างๆ อ่านผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นการอ่านยังทำให้นักรังสีมีความรู้รอบด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม
การเมือง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม บันเทิง
ล้วนทำให้เกิดปัญญาและนิสัยรักการอ่าน เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด
4. เป็นนักฟัง
ทำให้เกิดการเรียนรู้จากผู้ที่พูดให้เราฟัง ก่อให้เกิดการคิดตาม เกิดความอยากทำหรือทดสอบจากที่ได้ฟังมา
การฟังที่ช่วยให้จดจำได้ดีคือฟังแล้วบันทึก กับการฟังแล้ววิเคราะห์สิ่งที่ได้ฟัง
เพราะบางครั้งจำเป็นต้องเลือกนำเอาสิ่งที่ได้รับฟังไปใช้ในบางส่วน
หรือจะต้องประยุกต์ให้เข้ากับงานที่เราทำ เช่นเพื่อนที่ทำงานต่างโรงพยาบาลบอกเล่าให้ฟังถึงวิธีแก้ปัญหาการถ่ายภาพเอกซเรย์ผู้ป่วยสูงอายุจะมีปัญหาการกลั้นใจขณะเอกซเรย์
ก็ต้องรับฟังวิธีแก้ปัญหาแล้วคิดตามว่าจะใช้ที่แผนกเราได้หรือไม่
5. เป็นนักพูดในที่นี้ผู้บรรยายหมายถึงการพูดทางวิชาการ
ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยเป็นวิทยากรไม่ว่าระดับใดมาก่อน หลายคนไม่กล้าพูดบรรยายเชิงวิชาการ
อาจด้วยสาเหตุที่มักจะบอกว่าพูดไม่เก่ง ไม่สามารถพูดได้
แต่ผมคิดว่าการพูดเชิงวิชาการเป็นสิ่งสำคัญเพราะการจะพูดทางวิชาการให้ใครฟังต้องเป็นผู้รู้ จุดเริ่มต้นในแผนกก่อน เช่น การจัดบรรยายทบทวนความรู้ การจัดสัมมนา case ในแผนกทุกวันศุกร์
หรือการอภิปรายปัญหาการทำงานในแผนก
นักรังสีการแพทย์ทุกคนควรฝึกที่จะพูดแสดงทัศนะเชิงวิชาการ
และควรสมัครเป็นวิทยากรบรรยายก่อนสักครั้งหนึ่ง
ก็จะเกิดการเรียนรู้มากขึ้นเพราะการจะเป็นวิทยากรนั้นแม้จะพูดในแผนกก็ต้องมีการเตรียมตัวทั้งเรื่องที่จะพูด
เนื้อหาต้องถูกต้อง บุคลิกภาพ การเรียบเรียงคำพูดให้ผู้อื่นเข้าใจ
รวมไปถึงการเตรียมตัวตอบคำถามอีกด้วย หากไม่รู้จักค้นคว้า
ก็อาจทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการพูด หรือเกิดความประหม่า
เกิดความกลัวในการพูดครั้งต่อไป เป็นต้น
ทีนี้มาดูว่ากระบวนการคิด อ่าน เขียน ฟัง พูด
เมื่อรวบรวมมาได้แล้วจะเริ่มร่างโรงการวิจัยให้เป็นรูปร่างกันว่าจุดเริ่มต้นจะเริ่มตรงไหนดีผู้บรรยายก็ขอยกเป็นหัวข้อเชิงวิชาการเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยกับวิชาการสถิติไปเป็นลำดับๆ
ครับ
โครงร่างงานวิจัย(Research Proposal)
เป็นการเขียนเค้าโครงที่จะบอกเรื่องราว
(ให้หน่วยงาน หรือ กรรมการที่ให้ทุน) ทราบว่าผู้เขียนจะทำวิจัยเรื่องอะไร
มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อย่างไร
มีวิธีการทำตามลำดับอย่างไร คาดว่าจะได้ประโยชน์อย่างไร
และต้องใช้เวลาและงบประมาณเท่าไหร่
ทำไมต้องมีโครงร่างการวิจัย
ในแง่ผู้วิจัยแล้วโครงร่างการวิจัยทำให้รู้ว่าเนื้อหาขอบเขตที่จะทำการทดลองมีแค่ไหน
ลำดับวิธีการทดลองทำอะไรก่อนหลัง รวมทั้งรู้ว่า ต้องทำอะไรบ้าง
และติดขัดหรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ในแง่ผู้พิจารณาทุนวิจัย หรือหน่วยงานต้นสังกัด
ทำให้ทราบว่าผู้วิจัยมีความคิดจะทำอะไร มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เกิดประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่
จะได้ตัดสินใจได้ถูกว่าจะให้ทุน หรือปฏิเสธ หรือมีเงื่อนไขเสนอแนะแนวทางให้ผู้วิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้นจึงจะให้ทุน
สำหรับผู้ที่เป็นที่ปรึกษางานวิจัยจะได้ทราบว่างานวิจัยนั้นโดยวิธีการแบบที่เสนอมามีโอกาสสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
ใช้วิชาการได้ถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่
รวมทั้งรูปแบบการเขียนเป็นไปตามที่แหล่งทุนกำหนดหรือไม่ ซึ่งหากการเขียนโครงร่างมีความชัดเจนสมบูรณ์ถูกต้องและเป็นเรื่องน่าสนใจแล้วก็ทำให้มีโอกาสได้รับทุนวิจัยมากขึ้น
การเขียนโครงร่างการวิจัยควรเขียนตามระเบียบวิธีวิจัยหรือตามรูปแบบการวิจัยที่แหล่งทุนกำหนดว่าจะประกอบด้วยหัวข้อเรื่องอะไรบ้างและมีการลำดับหัวข้ออย่างไรต้องทำตามข้อกำหนดเพื่อให้ผู้พิจารณาอ่านได้ง่ายตามรูปแบบที่แหล่งทุนกำหนด
หากไม่ทำตามกฏเกณฑ์ที่วางไว้แล้วอาจไม่ได้รับการจัดสรรทุน
ทั้งๆที่เรื่องที่เสนอมีความน่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง
ตัวอย่าง
โครงร่างงานวิจัย
หัวข้อวิจัย การสร้างเครื่องวัดขนาดจุดโฟคอลสปอตของหลอดเอกซเรย์
ชนิด Pinhole
camera
ผู้วิจัย นส.ศศิธร ประทุม, สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ
ความสำคัญของปัญหา (โดยย่อ)
หลอดเอกซเรย์เมื่อใช้งานนานมากขึ้นก็จะเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน
การทดสอบคุณภาพขนาดโฟกัสหลอดเอกซเรย์เป็นหนึ่งในกระวนการควบคุมคุณภาพเครื่องมือที่จำเป็นต้องตรวจสอบเป็นประจำทุกปี
ทั้งนี้เพราะขนาดโฟคอลสปอต ที่เปลี่ยนแปลง(1) จะส่งผลต่อคุณภาพภาพถ่ายรังสี
แต่อุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบมีหลายแบบ แต่ทุกแบบจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ Pinhole camera เป็นหนึ่งใน
อุปกรณ์การทดสอบขนาดโฟคอล สปอต ของหลอดเอกซเรย์ ซึ่งมีราคาสูงมาก
ผู้วิจัยดูจากหลักการทำงานแล้วคิดว่าหากสามารถสร้างขึ้นใช้เองในประเทศก็จะเกิดประโยชน์ในการลดการสูญเสียเงินตราของประเทศ
และมีอุปกรณ์ทดสอบเพื่อควบคุมคุณภาพรังสีใช้ในแผนก
อีกทั้งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่จะได้ภาพวินิจฉัยโรคที่ดีมีคุณภาพ
ทฤษฎีหรือเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
จากการค้นคว้าเอกสารงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่พบว่ามีการวิจัยเรื่องนี้มาก่อน
แต่มีเอกสารวิชาการ(2)ที่กล่าวถึง
การวัดโฟคอลสปอตจะใช้อุปกรณ์ทดสอบ 2 อย่างคือ Star test
pattern หรือ Pinhole camera โดยการถ่ายภาพรังสี
Star test pattern หรือ Pinhole camera
ที่ใช้ทดสอบแล้วนำมาคำนวณหาขนาดของ effective focal spot ตามมาตรฐาน
NEMA โดยถ้าขนาดโฟคอลสปอตเล็กกว่า 0.8 mm. จะต้องวัดค่า % tolerance +50, ถ้ามีขนาดมากกว่า 0.8 ถึง 1.5 mm. จะต้องได้ % tolerance +40 และถ้าขนาดโฟคลอสปอตเกิน 1.5mm. จะต้องได้% tolerance +30
ซึ่งผู้วิจัยคาดว่าจะประดิษฐ์ pinhole camera ให้เป็นไปตามมาตรฐาน
NEMA
วัตถุประสงค์
สร้างอุปกรณ์ pinhole camera เพื่อใช้ทดสอบขนาดโฟคอลสปอตหลอดเอกซเรย์
สมมุติฐานการวิจัย
อุปกรณ์วัดขนาดโฟคอลสปอตที่สร้างขึ้นให้ผลไม่แตกต่างจากที่ซื้อจากต่างประเทศ
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัย
1.
ท่ออลูมิเนียมขนาด 1 cm. 4 ท่อน
2.
แผ่นอลูมิเนียมหนา 2 mm
ขนาด 6x6 นิ้ว 2 แผ่น
3.
ดอกสว่านขนาด 1/64 นิ้ว
4.
เครื่องเอกซเรย์
5.
ฟิล์ม
6.
Star
test pattern
7.
Pinhole
camera
8.
นอต สกรู ขนาดต่างๆ
วิธีการศึกษา
1.
สร้าง pinhole camera ตามแบบร่าง
2.
ทดสอบถ่าย pinhole camera และ Star test pattern ที่ซื้อจากต่างประเทศ
3.
ทดสอบถ่าย pinhole camera ที่สร้างขึ้น
ด้วยเทคนิคเดียวกัน
4.
วัดขนาดโฟคอลสปอร์ตที่ได้บนฟิล์มด้วยโปรแกรม
image J (NIH)
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
ข้อมูลการถ่ายภาพรังสีบนฟิล์มจำนวน40 แผ่น
การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา
และ t-test
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ได้เครื่องมือสำหรับทดสอบโฟคอลสปอร์ตในราคาถูกและมีประสิทธิภาพดี
งบประมาณ2000 บาท
แผนดำเนินการวิจัย
เอกสารอ้างอิง
1.
Papp J. Quality management in the imaging sciences. St. Louis: Mosby, 1998:
91-92.
2. Gray JE, Winkler NT, Stears
J, Frank ED.Quality control in diagnostic imaging. Baltimore:University Park Press,
1983: 83.
จะเห็นว่าการเขียนโครงร่างการวิจัยจะทำให้เกิดความคิดที่ครบวงจร
ทำให้รู้ตั้งแต่ที่มาของโครงการ ไปจนกระทั่งผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
เหลือเพียงแค่ผลการทดลองจริงกับการสรุปผลที่ได้
ก็จะสามารถนำไปเขียนเป็นผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้แล้ว
แต่หากไม่มีการร่างโครงร่างการวิจัยแล้วเราอาจไม่ตกผลึกทางความคิดว่าจะเริ่มต้นอย่างไร
ขั้นตอนแต่ละขั้นตอนจะทดลองอย่างไร และคาดการณ์ไม่ได้ว่าหน้าตาข้อมูลจะเป็นอย่างไร
และจะวิเคราะห์เพื่อสรุปผลได้อย่างไร เป็นต้น (งานวิจัยนี้เสร็จสมบูรณ์ตีพิมพ์ใน
วารสารเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดาวน์โหลดจากวารสารออนไลน์http://www.ams.cmu.ac.th/journal/attachments/article/333/200605107.pdf)
เมื่อได้โครงร่างการวิจัยแล้วก็ลงมือปฏิบัติทำงานวิจัยตามแผนงานที่วางไว้
ทีนี้มาดูกันว่าปัญหาที่มักจะพบในระหว่าการทำงานวิจัยคือข้อมูลที่ได้ออกมาแล้วจะวิเคราะห์อย่างไร
บางคนทำวิจัยโดยไม่ได้เขียนโครงร่างในเรื่องเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล
เนื่องจากไม่ทราบว่าจะเลือกสถิติอะไรในการวิเคราะห์ข้อมูลนั่นเอง
ดังนั้นผู้บรรยายจะเสนอภาพรวมของการวิเคราะห์ข้อมูลให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทั้งนี้เพราะการบรรยายทางสถิติเพื่อให้ผู้รับฟังรู้กระจ่างได้ในเวลาอันจำกัดนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้
แต่การทำความเข้าใจเรื่องสถิติต้องอาศัยการทำความเข้าใจในเรื่องลักษณะข้อมูลและเงื่อนไขในการทดสอบที่เป็นกฏเกณฑ์ทางสถิติ
หากไม่เป็นไปตามกฏเกณฑ์ที่กำหนดแล้วก็อาจเกิดความคลาดเคลี่อนในการวิเคราะห์
อาจส่งผลทำให้การวิจัยนั้นใช้ไม่ได้เลยทีเดียว
ดังนั้นผู้วิจัยต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นอย่างมาก
อย่าวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้จินตนาการว่าควรจะเป็นอย่างไร
แต่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้องเท่านั้นงานวิจัยจึงจะมีคุณค่า
น่าเชื่อถือและใช้ประโยชน์ได้จริง
ความสำคัญของการวิเคราะห์ทางสถิติในงานวิจัย
ต้องถือว่ามีความสำคัญมากทีเดียว
ทั้งนี้เพราะการจะบอกว่าผลงานวิจัยนั้นได้ผลตามที่คาดหมายหรือไม่นั้นจะต้องบอกด้วยสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดในรูปแบบทางคณิตศาสตร์ที่สามารถบกได้ว่าผลที่ได้นั้นดีขึ้นหรือแตกต่างกันอย่างไร
หากไม่มีการบ่งบอกด้วยตัวเลขทางคณิตศาสตร์แล้ว
ก็ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไรว่างานวิจัยนั้นได้ผล
สำหรับบางคนอาจกังวลว่างานวิจัยต้องใช้สถิติแล้วจะต้องหาสูตรสถิติยุ่งยากไปหมด
ผู้บรรยายคิดว่าไม่ใช่เรื่องน่าวิตกแต่ประการใดเพราะผู้วิจัยไม่ได้ใช้สูตรเหล่านั้นโดยตรงแต่ผู้วิจัยควรมีความเข้าใจว่า
ทำไมงานวิจัยชิ้นนี้ถึงใช้สถิติแบบนี้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งใช้สถิติอีกแบบหนึ่ง
ซึ่งจะช่วยให้ผู้วิจัยสามารถประยุกต์แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลให้เข้ากับงานวิจัยที่ตนเองทำอยู่ได้อย่างเหมาะสม
เทคนิคการเลือกสถิติสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย
สิ่งที่ผู้วิจัยต้องคิดก่อนว่าจะใช้สถิติอะไรในการวิเคราะห์ข้อมูลของงานวิจัยที่ทำอยู่นั้นจะต้องรู้จักข้อมูลของงานวิจัยนั้นก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร
เนื่องจากมีผลต่อการเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์
เช่นข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้มาบางส่วนมีลักษณะข้อมูลเชิงคุณภาพ บางส่วน
มีลักษณะเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ ยิ่งทำให้สับสนต่อการวิเคราะห์ข้อมูลว่าจะทำอย่างไร
เรื่องนี้มีทางออกเสมอเพราะสามารถใช้การวิเคราะห์สถิติหลากหลายแบบในงานวิจัยชิ้นหนึ่งๆ
ขอยกตัวอย่างงานวิจัยของ นักศึกษารังสีเทคนิคที่อยู่ในความดูแลของผู้บรรยาย ซึ่งทำภาคนิพนธ์ก่อนจบการศึกษา
เพื่อประกอบให้ทุกท่านได้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ซึ่งโดยปกติแล้วชื่องานวิจัยสามารถที่จะบ่งบอกอะไรได้หลายๆ
อย่างทั้งในเรื่องทิศทางการวิจัย สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้อะไรจากการวิจัย
ลักษณะข้อมูล รวมทั้งสถิติที่จะใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ในที่นี้ผู้บรรยายจะใช้วิธียกตัวอย่างจากกรณีศึกษาที่เป็นงานวิจัยจริงมาเป็นตัวอย่างประกอบ
ซึ่งผู้อ่านสามารถติดตามผลงานวิจัยเหล่านี้ได้จากเอกสารภาคนิพนธ์นักศึกษารังสีเทคนิค
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ห้องสมุดคณะเทคนิคการแพทย์
และบางชิ้นงานวิจัยได้นำไปตีพิมพ์ผลงานในวารสารในประเทศหรือต่างประเทศ
สามารถสืบค้นได้จากเวปไซต์อย่างสะดวก
กรณีศึกษาที่
1
งานวิจัย : การเปรียบเทียบความพึงพอใจก่อนและหลังการปรับปรุง
ของผู้รับบริการในกลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลจังหวัดแพร่ ประจำปี 2549
ผู้วิจัย : นายประจวบ สุขสบาย
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อรับทราบความพึงพอใจของผู้มารับบริการ
2. เพื่อนำผลการวิจัยมาเปรียบเทียบกันและนำมาพัฒนาคุณภาพในการบริการได้อย่าง
ต่อเนื่อง
วิธีการดำเนินการวิจัย : แจกแบบสอบถามผู้รับบริการทั้งผู้ป่วย
และ บุคลากรที่มาใช้บริการของแผนก
ลักษณะของข้อมูล :
เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ และมีมาตรวัดข้อมูลแบบนามบัญญัติ (Norminal
scale)
และ
คะแนนแบบสอบถามเป็นแบบเรียงอันดับ (Ordinal scale)
สถิติที่ใช้ : สถิติพรรณนา
แสดงผลลัพท์เป็น จำนวน และ ร้อยละ
กรณีศึกษาที่
2
งานวิจัย :
การหาแนวทางการวัดปริมาณรังสีในทางรังสีวินิจฉัยโดยการใช้ TLD
ผู้วิจัย : นส. วิริยาภรณ์ สายเกิด
วัตถุประสงค์ : เพื่อหาแนวทางการวัดปริมาณรังสีในทางรังสีวินิจฉัยโดยใช้
TLD
วิธีการดำเนินการวิจัย : 1. วัดปริมาณรังสีหน้าและหลัง
Phantom ในแนวกระดูกสันหลังโดยใช้เม็ด TLD
2. วัดโดยใช้
Ionization chamber dosimeter (IC) ในตำแหน่งเดียวกัน
3. วิเคราะห์ข้อมูล
หาค่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าโดสที่ได้จาก IC และTLD
4. เปรียบเทียบค่าโดสที่ได้หน้าและหลัง
Phantom จากการอ่านค่าที่ได้จากการวัด
ด้วย TLD
ลักษณะของข้อมูล :
เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ และมีมาตรวัดข้อมูลแบบอัตราส่วน (Ratio
scale)
สถิติที่ใช้ : 1. สถิติพรรณนา
แสดงผลลัพท์เป็นค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
(SD)
2. สถิติอนุมาน โดยใช้paired t-test
เพื่อเปรียบเทียบระหว่างค่าที่วัดได้ด้านหน้า
และหลัง Phantom ผลที่ได้แสดงค่าเป็นค่า p-value
3. สถิติ สหสัมพันธ์ (Correlation)
หาความสัมพันธ์ระหว่าง ค่า Dose ที่ได้จากการ
วัดด้วย IC กับ ค่าที่วัดได้จาก TLD ผลลัพท์
แสดงค่าเป็นค่าความสัมพันธ์ (r)
กรณีศึกษาที่ 3
งานวิจัย : การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพยากร์
อายุน้ำยาล้างฟิล์มในการควบคุมคุณภาพเครื่องล้างฟิล์มอัตโนมัติของห้องถ่ายภาพรังสีเต้านม
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ผู้วิจัย : นส. อัจฉราภรณ์ ศรีสฤงฆาร
วัตถุประสงค์ : เพื่อวิเคราะห์และพยากรณ์หาอายุของน้ำยาล้างฟิล์ม
โดยการใช้ข้อมูลที่ได้จากกราฟควบคุม
(Control
chart) จากโปรแกรมการทำการควบคุมคุณภาพเครื่องล้างฟิล์มอัตโนมัติ
วิธีการดำเนินการวิจัย : 1. เก็บข้อมูลที่ได้จากการควบคุมคุณภาพเครื่องล้างฟิล์มอัตโนมัติของห้องถ่ายภาพ
รังสีเต้านม โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่ (เก็บข้อมูลจาก Control chart)
2. แบ่งช่วงอายุน้ำยาล้างฟิล์มเป็นสามช่วง
ลักษณะของข้อมูล :
เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ และมีมาตรวัดข้อมูลแบบอัตราส่วน (Ratio
scale)
สถิติที่ใช้ : 1. สถิติOne-way
ANOVA เพื่อเปรียบเทียบระหว่างค่าความไวที่วัดได้ระหว่าง
อายุน้ำยาทั้งสามช่วงว่าแตกต่างกันหรือไม่
2. สถิติ t-test (one-tail test) เพื่อทดสอบว่าค่าความไวและค่าความเปรียบต่างไม่
เกินขอบเขต + 10% ของเส้นควบคุม
3. สถิติ
Kruskal-Wallis test เปรียบเทียบค่า Contrast และ Fog
ของอายุน้ำยาทั้งสามช่วง
4.
สถิติ สมการเส้นถดถอย ใช้พยากรณ์อายุน้ำยาล้างฟิล์มที่
กรณีศึกษาที่ 4
งานวิจัย :
การประเมินความไม่แน่นอนในการวัดสำหรับการตรวจสอบคุณภาพ
เครื่องเอกซเรย์
คอมพิวเตอร์ : การศึกษาต้นแบบ
ผู้วิจัย : นาง รัชวรรณ ใจศีลธรรม
วัตถุประสงค์ :
ประเมินความไม่แน่นอนในการวัดสำหรับการตรวจสอบคุณภาพเครื่องเอกซเรย์
คอมพิวเตอร์
วิธีการดำเนินการวิจัย :
1. ตรวจสอบคุณภาพเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ด้วย Water
phantom
(GE.
Series 2336931)วัดค่า ROI (CT.numbert) และ
แบบวัดระยะทาง
2.
หาค่าความไม่แน่นอนของการวัดที่เกิดจากผู้ทดสอบที่เป็นนักรังสีการแพทย์
3. หาค่าความไม่แน่นอนของการวัดที่เกิดจากเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้
ลักษณะของข้อมูล : เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ และมีมาตรวัดข้อมูลแบบอัตราส่วน
(Ratio scale)
สถิติที่ใช้ : % Uncertainty
กรณีศึกษาที่ 5
งานวิจัย : เครื่องช่วยจับตลับฟิล์มสำหรับการถ่ายภาพรังสีกะโหลกศีรษะขวางเตียง
(Lateral cross table) ในผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน
ผู้วิจัย :
วัตถุประสงค์ : สร้างอุปกรณ์ยึดจับตลับฟิล์ม
วิธีการดำเนินการวิจัย 1.ทดสอบความสะดวกและความพึงพอใจในการใช้งานในการใช้งาน
2.ทดสอบความปลอดภัยในการใช้งานจริง
3.ทดสอบความถูกต้องและคุณภาพภาพรังสีที่ได้
ลักษณะของข้อมูล : ข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณ
สถิติที่ใช้ : 1. สถิติพรรณนา
(ร้อยละ, ค่าเฉลี่ยคะแนน, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)
2. สถิติพรรณนา (ร้อยละ, ค่าเฉลี่ยคะแนน, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)
3.paired t-test (ทดสอบความแตกต่างระหว่างคะแนนการอ่านผล
ของรังสีแพทย์ที่ได้จากการอ่านฟิล์มที่ใช้และไม่ได้ใช้อุปกรณ์ยึดจับที่
พัฒนาขึ้น)
4.
Kappa test (ทดสอบความสอดคล้องของผลการอ่านฟิล์มของรังสี
แพทย์ที่ได้จากการอ่านฟิล์มที่ใช้และไม่ได้ใช้อุปกรณ์ยึดจับที่พัฒนาขึ้น)
กรณีศึกษาที่ 6
งานวิจัย :
การตรวจสอบคุณภาพจอแสดงผลทางรังสีวินิจฉัย ด้วย SMPTE test
pattern
ผู้วิจัย : นางสุจินดา เตจ๊ะ
วัตถุประสงค์ :
ตรวจสอบคุณภาพจอแสดงผลทางรังสีวินิจฉัยชนิดต่างๆ ได้แก่ จอ LCD hiresolutionและ
Super
VGA LCD monitor
วิธีการดำเนินการวิจัย 1.ใช้ Softwareเปิดรูป SMPTE มาตรฐาน
จากนั้นวัดค่าในแต่ละตำแหน่งด้วย LUX
meterตามมาตรฐานการวัด IAEA
ลักษณะของข้อมูล : ข้อมูลปริมาณ
สถิติที่ใช้ : 1 Chi-square test เพื่อทดสอบความสม่ำเสมอของหน้าจอ (Uniformity)
2.
t-test (เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างจอ Hi-res LCD กับ SVGA)
จากกรณีศึกษาที่ยกตัวอย่างมาประกอบจะเห็นได้ว่างานวิจัยด้านรังสีการแพทย์มีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ
การได้มาของข้อมูลมีทั้งข้อมูลที่ได้จากการทดลองถือเป็นข้อมูลปฐมภูมิ (Primary data) การเก็บแบบสอบถาม รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นที่เป็นข้อมูลทุติยภูมิ
(Secondary data)มีมาตรวัดข้อมูลหลายแบบ และลักษณะรูปแบบการวิจัยที่หลากหลายทำให้มีการเลือกใช้สถิติแตกต่างกันไป
ซึ่งในที่นี้ผู้บรรยายจะขอสรุปแนวทางการเลือกใช้สถิติสำหรับงานวิจัยดังนี้
แนวทางการเลือกใช้สถิติสำหรับงานวิจัย
1.
ควรเลือกใช้ให้เป็นไปตามกฏเกณฑ์
ที่เป็นข้อกำหนดทางสถิติ ได้แก่ สถิติที่ใช้ตัวพารามิเตอร์
ใช้ได้กับข้อมูลที่มีการกระจายข้อมูลแบบปกติ ข้อมูลได้มาโดยสุ่ม
มีมาตรวัดข้อมูลแบบอันตรภาคหรืออัตราส่วนขึ้นไป จำนวนตัวอย่างมีขนาดใหญ่
ส่วนสถิติที่ไม่ใช้พารามิเตอร์ มักจะใช้สำหรับการตรวจสอบข้อมูลที่มีลักษณะเบ้
(การกระจายไม่เป็นแบบปกติ) หรือมีขนาดตัวอย่างน้อย มาตรวัดข้อมูลเป็นมาตรนามบัญญัติหรือเรียงอันดับ
2.
ควรให้ความสำคัญกับขนาดตัวอย่างเนื่องจากการทดสอบทางสถิติหากมีข้อมูลมากก็จะทำให้ความคลาดเคลื่อนในการวิเคราะห์มีน้อยกว่าการวิเคราะห์ที่มีขนาดตัวอย่างน้อย
3.
การเลือกสถิติที่จะวิเคราะห์ข้อมูลต้องเลือกให้ถูกต้อง
เหมาะสม เพราะบางงานวิจัยอาจเลือกใช้สถิติได้หลายอย่าง
ไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกเพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงกฏเกณฑ์ให้ถูกต้องเป็นหลัก
4.
ไม่กังวลกับการใช้สถิติพรรณนา
เช่นนำเสนอข้อมูลเป็นร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าจะทำให้งานวิจัยนั้นขาดความเชื่อถือแต่ที่จริงแล้วเป็นการใช้สถิติทดสอบที่ไม่นำไปอ้างอิงในกลุ่มประชากร
แต่สามารถใช้ได้สำหรับการทดสอบเฉพาะเวลานั้นกับกลุ่มตัวอย่างนั้นเท่านั้นเอง
ทั้งนี้อาจเพราะข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ม่ามารถเลือกใช้การอนุมานทางสถิติ
5.
การแปลผลทางสถิติให้ตรวจสอบค่า p-value หรือค่า Sig. ที่ได้จากการแสดงผลออกมาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทดสอบทางสถิติ
หากค่า p-value น้อยกว่า 0.05แสดงว่าการทดสอบนั้นให้ผลที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
นอกจากสถิติจะใช้สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลในงานวิจัยแล้วเรายังสามารถนำเอาการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติไปใช้ประโยชน์ในการทำรายงานประจำหกเดือน
หรือรายงานประจำปี ในการรายงานจำนวนผู้ป่วย
เปรียบเทียบสถิติระหว่างปีปัจจุบันกับปีเก่าๆ การนำไปใช้เพื่อประเมินประสิทธิภาพของงาน
หรือใช้ประโยชน์ในการนำเสนอข้อมูลต่างๆให้ผู้บังคับบัญชาในโรงพยาบาลก็จะช่วยให้ข้อมูลรายงานมีความน่าสนใจมากกว่าการนำเสนอด้วยการพรรณนาเอกสารเพียงอย่างเดียว
หรือมีแต่ตัวเลขเต็มไปหมด
แต่การสรุปด้วยสถิติจะช่วยให้กระชับและเห็นชัดเจนว่าผลการรายงานประจำปี เกี่ยวกับสถิติที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย
มีความแตกต่างจากปีก่อนๆหรือไม่ และรายงานเหล่านี้สามารถพัฒนาเป็นงานวิจัยได้ด้วย
ขึ้นกับผู้ที่รู้จักคิด เขียน อ่านและลงมือทำ
จะเห็นภาพต่างๆชัดเจนขึ้นดังตัวอย่างต่างๆ ที่ผู้บรรยายยกตัวอย่างให้เห็น
กรอบแนวทางการเลือกใช้สถิติสำหรับรังสีการแพทย์
หัวข้อวิจัย
|
ลักษณะข้อมูล
|
ตัวอย่างตัวแปร
|
ตัวอย่างสถิติที่ใช้วิเคราะห์
|
·การสำรวจการให้บริการ
·การใช้แบบสอบถาม
·การสังเกต
การนับจำนวนความถี่
|
· ข้อมูลเชิงคุณภาพ
· มาตรวัดนามบัญญัติ
หรือเรียงอันดับ
· เปลี่ยนความเห็นเป็นคะแนน
=>อันตรภาค
|
·
เพศ ศาสนา สี ฯ
·
จำนวนนับ ความเข้มหรือ เฉดสีจากการสังเกต
·
คะแนนความเห็น
|
· ร้อยละ
ค่าเฉลี่ย
· Chi-square (วัดความสัมพันธ์,
หาสัดส่วน,
วัดการกระจาย)
|
· ทดสอบอุปกรณ์
เครื่องมือ
· การสร้างเครื่องมือ
อุปกรณ์ใหม่ นวัตกรรม
· การเปรียบเทียบประสิทธิภาพเครื่องมือ
|
· ค่าตัวเลขจากเครื่องมือ
· การวัดค่าจริง
· ค่าที่เกิดจากทดสอบที่มีผลประเมินเป็นคะแนนที่บอกค่าและคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้
|
· ค่าซีทีนัมเบอร์
· kV, mAS.
· อุณหภูมิ
ความดัน
· ระยะเวลาที่แสดงผล
· ค่า pixel value
· ค่าความสว่าง
· ปริมาณรังสี
· ความดำฟิล์ม
|
· t-test one tail
test (ประชากรกลุ่มเดียว)
· paired t-test (กลุ่มเดียววัดซ้ำ หรือวัดเปรียบเทียบก่อนหลัง
· t-test two tail
test (ประชากร 2 กลุ่ม)
· One way ANOVA (หลายกลุ่มประชากร ตัวแปรเดียว)
· Two way ANOVA (หลายกลุ่มประชากร หลายตัวแปร)
· Chi-square (ข้อมูลเบ้)
|
· การหาความสัมพันธ์
· การพยากรณ์ค่า
การหาแนวโน้ม
|
· ค่าตัวเลขจากเครื่องมือ
· การวัดค่าจริง
· ค่าที่เกิดจากทดสอบที่มีผลประเมินเป็นคะแนนที่บอกค่าและคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้
|
· ค่าซีทีนัมเบอร์
· kV, mAS
· อุณหภูมิ
ความดัน
· ระยะเวลา
· ค่า pixel value
· ค่าความสว่าง
· ปริมาณรังสี
· ความดำฟิล์ม
|
· Correlation
· Linear regression
· Chi square
|
· ความเห็นทางการแพทย์
· การวัดเปรียบเทียบค่ามาตรฐานทางการแพทย์
· การวินิจฉัยโรค
|
· การตัดสินใจสองทิศทาง
เป็นหรือไม่เป็นโรค พบหรือไม่พบรอยโรค
|
· ผลการวินิจฉัยรอยโรค
|
· t-test, ANOVA
· Kappa
· Mc.Nemar
· Chi-square
· Factorial
· Wilcoxon
· Mann-Whitney
· Uniform
|
· วัดความคลาดเคลื่อน
|
· ตัวเลขความผิดพลาด
· จำนวนครั้งที่มากหรือน้อยกว่าขอบเขตที่ยอมรับได้
· ค่าความน่าจะเป็น
|
· ค่านับวัดที่ผิดไปจากมาตรฐาน
· จำนวนครั้งที่ผิดไปจากมาตรฐาน
|
· % error
· Mean+SD,
%CV
· Statistics QC.
· % Uncertainty
|
เอกสารอ้างอิง
ประจวบ
สุขสบาย.
การเปรียบเทียบความพึงพอใจก่อนและหลังการปรับปรุง
ของผู้รับบริการในกลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลจังหวัดแพร่ ประจำปี
2549 . ภาคนิพนธ์วิทยาศาสตร์บัณฑิต(รังสีเทคนิค)
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2549.
รัชวรรณ
ใจศีลธรรม.
การประเมินความไม่แน่นอนในการวัดสำหรับการตรวจสอบคุณภาพ
เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ : การศึกษาต้นแบบภาคนิพนธ์วิทยาศาสตร์บัณฑิต(รังสีเทคนิค)
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.2550.
วิริยาภรณ์ สายเกิด. การหาแนวทางการวัดปริมาณรังสีในทางรังสีวินิจฉัยโดยการใช้
TLD. ภาคนิพนธ์วิทยาศาสตร์บัณฑิต(รังสีเทคนิค)
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2545.
ศศิธร ประทุม, สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ. การสร้างเครื่องวัดขนาดจุดโฟคอลสปอตของหลอดเอกซเรย์
ชนิด Pinhole camera.วารสารเทคนิคการแพทย์เชียงใหม่
2549; 39: 107-12.
สุจินดา
เตจ๊ะ. การตรวจสอบคุณภาพจอแสดงผลทางรังสีวินิจฉัย ด้วย SMPTE test pattern
การศึกษาต้นแบบภาคนิพนธ์วิทยาศาสตร์บัณฑิต(รังสีเทคนิค) คณะเทคนิคการแพทย์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2550.
สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ.
การใช้โปรแกรมประยุกต์ทางสถิติ SPSS for Windowsในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น. เอกสารประกอบการสอนวิชา
510713. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่, 2552.
สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ.เอกสารประกอบการบรรยาย
การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อการวิจัยทางรังสีการแพทย์สำหรับการเรียนการสอนนักศึกษาสาขาวิชารังสีเทคนิค.
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่, 2553.
สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ.เอกสารประกอบการบรรยาย
การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อการวิจัยทางรังสีการแพทย์.เอกสารประกอบการบรรยายวิชาการ.
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่, 2554.
อัจฉราภรณ์ ศรีสฤงฆาร. การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพยากร์
อายุน้ำยาล้างฟิล์มในการควบคุมคุณภาพเครื่องล้างฟิล์มอัตโนมัติของห้องถ่ายภาพรังสีเต้านม
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่. ภาคนิพนธ์วิทยาศาสตร์บัณฑิต(รังสีเทคนิค)คณะเทคนิคการแพทย์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.2547.http://www.fujifilm.com/products/medical/technologies/edr/.
***********************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น