วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555



มลพิษทางอากาศ 
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก...
ผศ.สุชาติ   เกียรติวัฒนเจริญ คณะเทคนิคการแพทย์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากระแสความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้มีการนำเสนอข่าวสารออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและนอกประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเริ่มมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องของมลพิษทางน้ำ  การปนเปื้อนสารเคมีหรือสารพิษในดิน ในน้ำ หรือการเกิดมลพิษในอากาศ นอกจากนั้นภาวะโลกร้อนได้มีการปลุกกระแสให้คนในโลกได้รับรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสารคดีที่นำเสนอโดย Al Goreอดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา (2007) ในเรื่อง An Inconvenient Truth ซึ่งได้ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะเรื่องโลกร้อนอันจะทำให้เกิดการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกในบริเวณกว้างจนเกิดความวิตกว่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ตลอดแนวชายฝั่งทะเลทุกส่วนของโลกโดยระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้น 1-2 เมตรซึ่งนั่นหมายถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลของแต่ละประเทศอาจหายไปไม่น้อยกว่า 2-3 กิโลเมตรจากปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันก็จะเห็นได้ว่าตลอดแนวชายฝั่งด้านอ่าวไทยของประเทศไทยมีการกัดเซาะของน้ำทะเลเข้ามาไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตรในช่วงไม่ถึง 20 ปี โดยเฉพาะบ้านขุนสมุทรจีน สมุทรปราการ ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนที่สำคัญคือการเกิดภาวะเรือนกระจกที่เกิดจากการปล่อยแกสพิษต่างๆ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นแกสที่เกิดจากการเผาไหม้ต่างๆทุกชนิด ยิ่งโลกมีประชากรมากขึ้น ความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น  แต่สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือหมอกควันที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกำหนดให้ PM10ในอากาศมีค่ามาตรฐานระดับควบคุมจะไม่เกิน 120ไมโครกรับต่อลูกบาศก์เมตร จะมีแหล่งกำเนิดจากรถยน์ในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นกับการเผาในที่โล่งแจ้งเป็นหลัก ซึ่งพบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเรื่องหมอกควันมีหลักๆ ได้แก่ 
1. กรุงเทพฯและปริมณฑลฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯและปริมณฑลมักจะเกิดจากควันไอเสียของรถยนต์ซึ่งมีจำนวนมากรวมทั้งควันจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นหลัก จะเกิดขึ้นตลอดปีแต่ระดับปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ(PM10)ส่วนมากยังไม่เกินระดับมาตรฐาน แต่พบว่าบางช่วงโดยเฉพาะช่วงอากาศหนาวและเข้าสู่ฤดูแล้งประมาณเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปีก็จะมีแนวโน้มที่ค่อนข้างสูงใกล้ๆระดับควบคุม และอาจมีบางวันเท่านั้นที่อาจมีระดับเกินมาตรฐาน แต่ไม่มากนักทั้งนี้เพราะกรุงเทพเป็นที่ราบและอยู่ใกล้ทะเลดังนั้นจึงมีลมพัดจากทะเลเข้าฝั่งในเวลากลางวันเสมอ และในช่วงกลางคืนจะมีลมพัดจากฝั่งกรุงเทพและพื้นที่ชายฝั่งออกทะเลดังนั้นจึงไม่มีปัญหาฝุ่นละอองในอากาศสะสมเหมือนพื้นที่ที่เป็นแอ่งกะทะ(Basin) 
2. พื้นที่จังหวัดบริเวณภาคเหนือตอนบนและจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงเช่น ตาก สุโขทัย เป็นต้น เกิดจากการเผาป่า เผาซากพืชทางการเกษตรเป็นหลักจะเกิดในช่วงเดือน กุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งระดับความเข้มข้นของหมอกควันหรือฝุ่นละอองในอากาศจะเกินค่ามาตรฐานค่อนข้างมาก ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะมีค่า PM10 ประมาณ 75-300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเลยทีเดียว และบางปีจะพบบางพื้นที่มีระดับสูงสุดถึง 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามจากการติดตามข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษทางอากาศจะพบว่าพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนในแต่ละปีจะมีวันที่มีปัญหาหมอกควันเกินค่ามาตรฐานประมาณเฉลี่ยในแต่ละปีอยู่ราวๆ 5-15วัน แม้ว่าบางปีอาจมีบางพื้นที่เกินมาตรฐานถึง 22-23วัน แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี แต่ก็ถือว่าเป็นปัญหารุนแรงกว่าพื้นที่ภาคอื่นๆ ทั้งประเทศ
3. เขตจังหวัดภาคใต้ตั้งแต่สงขลาลงไปจนถึงยะลาซึ่งมักจะเป็นหมอกควันที่เกิดจากกิจกรรมการเผาในต่างแดน (ไฟไหม้ป่า และการเผาในเขตป่าของบอร์เนียวและเกาสุมาตรา) แล้วถูกลมพัดกระจายมายังภาคใต้ของประเทศไทย ช่วงเวลาที่พบหมอกควันมากในภาคใต้จะมีสองช่วงคือประมาณเดือน มิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา ภูเก็ต PM10 จะอยู่ในระดับ 50- 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งเป็นระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน แต่ก็ถือว่ามากกว่าช่วงเวลาอื่นที่มักจะมีค่าช่วง 10-40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น 
รูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงภาวะหมอกควันเชียงใหม่ในปี 2555 (ซ้าย) ซึ่งมีค่า PM10  มากกว่า 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในบริเวณสี่แยกข่วงสิงห์จะไม่เห็นดอยสุเทพ เทียบกับด้านขวามือที่ยังมีปริมาณหมอกควันไม่เกินค่ามาตรฐาน (น้อยกว่า 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) จะเห็นดอยสุเทพที่ชัดเจนกว่าวันที่มีมลภาวะทางอากาศเกินมาตรฐาน

ความต้องการพื้นที่มากขึ้นส่งผลให้เกิดการรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น การเผาทำลายป่ามากขึ้น ปริมาณน้ำผิวดินลดน้อยลง ความแห้งแล้งในอากาศสูงขึ้น ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นและยิ่งทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงทั้งในเรื่องปริมาณแกสพิษและปริมาณฝุ่นละอองในอากาศที่เพิ่มขึ้น
ฝุ่นละอองขนาดเล็กถือเป็นผลพลวงของการเผาไหม้ทุกชนิดรวมทั้งการเกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่นการระเบิดของภูเขาไฟ การเกิดพายุทะเลทราย ฯ ซึ่งหากแบ่งขนาดฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้วมักจะแบ่งตามขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางได้แก่
TSP (Total Suspension Particle) เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดตั้งแต่ 100 ไมครอนลงมา
( 1 ไมครอน เศษหนึ่งส่วนล้านของเมตร หรือ หนึ่งในพันส่วนของมิลลิเมตร)
PM10  (Paticulate Matters 10 micron)  จัดเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ไมครอนลงมา หรือเรียกว่าฝุ่นหยาบ
PM2.5 (Paticulate Matters 2.5 micron) เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดต่ำกว่า 2.5 ไมครอนลงมา เรียกว่าฝุ่นละเอียด

รูปที่ 2 ขนาดเปรียบเทียบวงกลมใหญ่แทนขนาดเส้นผม วงกลมกลางจะเท่ากับฝุ่นละอองขนาด PM10 และวงกลมเล็กสุดจะเท่ากับขนาด PM2.5

        ในการเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองขนาดเล็กทุกขนาดจะใช้เครื่องมือมาตรฐานที่ใส่แผ่นกรอง (Filter) ที่ใช้ดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่มีขนาดรูพรุนเล็กกว่าขนาดฝุ่นละอองที่ต้องการเก็บตัวอย่างและจะเก็บตัวอย่างเป็นเวลา 24 ชั่วโมงจากนั้น จะวิเคราะห์ปริมาณด้วยการชั่งน้ำหนักฝุ่นแล้วคำนวณปริมาณออกมาเป็นค่าเฉลี่ยน้ำหนักฝุ่นในเวลา 24 ชั่วโมงต่อหน่วยลูกบาศก์เมตรของอากาศ (หน่วยไม่โครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ)  ซึ่งค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษของประเทศไทยกำหนดค่าควบคุมสำหรับฝุ่นละอองในอากาศขนาด PM10 ในเวลา 24 ชั่วโมง ต้องมีค่าเฉลี่ยไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของอากาศ นั่นหมายความว่าในแต่ละวันที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษในแต่ละสถานีจะรายงานปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM10ทุกวัน จะบ่งบอกถึงปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ดังนั้นหากพบว่าค่าที่รายงานออกมามีค่าเกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของอากาศแล้วจะต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันแบบต่างๆ เพื่อมิให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายจนเกิดอันตรายได้


รูปที่ 3 ลักษณะของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน ขยาย 400 เท่า
ที่มา  http://www.hartford.gov/healthyhartford/OutdoorAir_Quality/Images/pm225a.jpg

                                    (ก)                                               (ข)
รูปที่ 4  รูปถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ธรรมดาขยาย 100 เท่าเปรียบเทียบขนาดฝุ่นละออง
    ขนาดเล็ก (PM10กับขนาดเส้นผม  รูป ก (ซ้ายมือ) แผ่นกรองเปล่าเคลือบด้วย
    Apizon’s grease เพื่อใช้เก็บตัวอย่างฝุ่นขนาด 10 ไมครอน 
    รูป ข (ขวามือ) แผ่นกรองที่เก็บตัวอย่างฝุ่นขนาด 10 ไมครอนลงไปเทียบกับ
    เส้นผม


รูปที่ 5 ฝุ่นขนาดต่างๆ เข้าสู่ทางเดินหายใจในระดับความลึกแตกต่างกัน
ที่มา http://www.home-air-purifier-expert.com/lungs.html#dustandpm

รูปที่ 6 ภาพทางเดินอากาศในปอดและถุงลม

จากการศึกษาผลของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งกระทบต่อสุขภาพพบว่าฝุ่นละอองขนาดใหญ่กว่า 10 ไมครอนซึ่งคิดเป็นร้อยละ 99 ของฝุ่นละอองทั้งหมดจะติดอยู่บริเวณโพรงจมูกและปากเท่านั้น1 ไม่สามารถผ่านเข้าสู่หลอดลมได้ ส่วนฝุ่นที่มีขนาด 5-10 ไมครอนจะเข้าสู่หลอดลม (Trachea) และแขนงหลอดลม (Bronchus) สำหรับฝุ่นขนาด 2.5-5 ไมครอนจะเข้าสู่หลอดลมฝอย(Bronchioles) ถุงลม(Alveoli) และฝุ่นละเอียดขนาดต่ำกว่า 0.02 ไมครอนสามารถดูดกลืนเข้าสู่กระแสโลหิตผ่านเส้นเลือดฝอยในปอดเข้าสู่ร่างกายได้

รูปที่ 7  ฝุ่นละอองเข้าสู่ทางเดินหายใจในระดับลึกส่วนต่างๆ
ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ในรายงานทางการแพทย์พบว่าผู้ที่อยู่ในอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กในความเข้มข้นต่ออากาศที่สูงเกินระดับมาตรฐาน (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ) แล้วจะเกิดอาการโดยเฉียบในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับน้อยๆไปจนถึงอันตรายต่อชีวิตได้แก่ การไอจาม มีน้ำมูก หายใจขัด เกิดการแพ้ หายใจลำบาก มีอาการหอบหืด หัวใจเต้นแรง หน้ามืด เป็นลม หมดสติ ชัก หัวใจวายเฉียบพลัน สำหรับผู้ที่ได้รับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีความเข้มข้นมากกว่า 50ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ เป็นเวลานานๆ อาจไม่มีอาการที่รุนแรงมากนักในระยะต้น แต่ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงหรือมีอาการเรื้อรังได้แก่ ภูมิแพ้ การอุดตันของท่อลมฝอย หอบหืดเรื้อรัง ปอดอักเสบเรื้อรัง  ไอเป็นเลือด โรคหลอดเลือดและหัวใจ และยังพบรายงานทางระบาดวิทยาว่าประชาชนที่อยู่ในเขตที่มีมลพิษทางอากาศสูงนานๆ มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งปอดมากกว่าประชาชนในเขตที่มีอากาศสะอาดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งพอจะสรุปอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก 3 ได้ดังนี้
1.   อาการของระบบทางเดินหายใจ  ตั้งแต่อาการน้อย เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก จนไปถึงการอักเสบของไซนัส  เจ็บคอ ไอมีเสมหะ หรือมีไข้ หรืออาจจะมีอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ หายใจลำบาก  เจ็บหน้าอก หรือหายใจมีเสียงดัง วี๊ซ (Wheez) เนื่องจากมีการหดตัวของหลอดลม 
2.  หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)   ในกลุ่มประชากรที่สัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณที่มาก  จะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคหลอดลมอักเสบสูงกว่า   และในรายที่มีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว เมื่อเกิดโรคหลอดลมอักเสบ(Bronchitis) หรือปอดบวม(Pneumonia) จะซ้ำเติมให้การทำงานของหัวใจแย่ลง  จนเกิดหัวใจวายได้ (Heart Failure)
3.  ปอดเป็นพังผืดจากการระคายเคืองเรื้อรัง (Pneumoconiosis)  การที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เข้าไปในปอดไประคายเคืองระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง จนเกิดพังผืดขึ้นในเนื้อปอด
4. มะเร็งของระบบทางเดินหายใจ   ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีส่วนผสมของสารบางอย่าง เช่น Arsenic, Chromate ,Poly aromatic hydrocarbon (PAH) ,Nickel,สารกัมมันตรังสี   ซึ่งเมื่อสัมผัสกับเนื้อปอด จะทำให้เป็นมะเร็งปอดได้  และถ้าสารดังกล่าวที่กล่าวมาข้างต้นสามารถละลายน้ำได้  เมื่อไปสู่อวัยวะต่างๆนอกปอด  ก็สามารถทำให้อวัยวะเหล่านั้นเกิดมะเร็งได้เช่นกัน
5. เพิ่มอัตราการตาย และอัตราการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล  โดยมีการศึกษาสนับสนุนดังนี้
o    การศึกษาในสหรัฐอเมริกา ในปี 1944  ถ้าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10)  มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นจากระดับปรกติ 10 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. จะทำให้อัตราการตายสูงขึ้นร้อยละ 1.0-3.2   และเพิ่มการนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจขึ้นร้อยละ 1-2
o    การศึกษาในสหราชอาณาจักร พบว่า PM10 เพิ่มอัตราการตายร้อยละ 1.9 และเพิ่มการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
การศึกษาอื่นๆ พบว่า ถ้า PM10 เพิ่มขึ้นจากระดับปรกติ 10 ไมโครกรัมต่อ ลบม.  จะทำให้อัตราการตายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1  อัตราการตายจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4  การนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และการรักษาตัวในห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้นร้อยละ 1
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก สามารถผ่านเข้าไปในทางเดินหายใจได้ลึก3 โดยระบบทางเดินหายใจ เช่นขนจมูกไม่สามารถที่จะกรองเพื่อไม่ให้เข้าไปในส่วนลึกของระบบทางเดินหายใจได้ จึงมีอันตรายมากกว่าฝุ่นละอองขนาดใหญ่ มีหลักฐานแน่ชัดว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีผลต่อระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจและหลอดเลือด ไม่มากก็น้อย สำหรับประชาชนที่สูดดมเข้าไป โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กและคนชรา และคนที่มีโรคของระบบทางเดินหายใจ เช่นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืดเป็นต้น ปัจจุบันยังไม่สามารถหาได้ว่าปริมาณที่ไม่เกินเท่าไรถึงปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่อทุกคน ได้มีการศึกษาในสหรัฐอเมริการและยุโรปเพื่อหาขนาดของฝุ่นลอองงขนาดเล็กว่าปริมาณน้อยสุดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเท่ากับเท่าไร พบว่า ปริมาณของ PM2.5 ปริมาณที่มากกว่า 3-5 ไมโครกรัม/ลบม. สามารถมีผลสุขภาพ นักระบาดวิทยาสามารถแสดงหลักฐานผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อสัมผัสทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และสรุปว่าปริมาณของฝุ่นละอองขนาดเล็กและความรุนแรงของผลกระทบต่อสุขภาพนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละคน เป็นการยากที่จะกำหนดมาตรฐานค่าใดค่าหนึ่งที่จะสามารถคุ้มครองประชาชนทุกคนให้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ ถ้าเป็นไปได้มาตรฐานของปริมาณของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ควรต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใต้ข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ และการเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว . การทำ Quantitative risk assessment โดยการจำลองภาพว่าเมื่อใช้ค่ามาตรฐานของปริมาณ PM10 และ PM2.5 ค่าต่างๆกัน จะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างไร เป็นวิธีการที่ Environmental Protection Agency (EPA) ของสหรัฐอเมริกา และ European Commission ใช้กันเพื่อทบทวนค่ามาตรฐานที่เหมาะสมว่าควรเป็นเท่าไร โดยพิจารณาปริมาณของ PM ที่จะทำให้อัตราการตายเพิ่มขึ้น ซึ่งนักระบาดวิทยาส่วนใหญ่ใช้ PM10 ในการศึกษา เนื่องจาก PM10 นั้นจะรวม PM2.5 นั้นประกอบด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน และฝุ่นละอองขนาด 2.6 – 9.9 ไมครอนเข้าไปด้วย
       ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เกิดจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การก่อสร้าง ฝุ่นละอองบนท้องถนน และการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งสัดส่วนของ PM2.5 และ PM10 ก็แตกต่างกันไปแล้วแต่พื้นที่ โดยในเขตเมืองของประเทศกำลังพัฒนา สัดส่วนของ PM2.5 / PM10 มีค่าประมาณ 0.5 แต่ในเขตเมืองของประเทศพัฒนาแล้วประมาณ 0.5- 0.8 แม้ว่า PM10 จะได้รับการใช้ในวงกว้าง แต่การศึกษาของ WHO ใช้ค่า PM 2.5 และคำนวณกลับมาเป็น PM 10 ได้จากการประมาณการว่า ค่า สัดส่วนระหว่าง PM2.5 / PM10 มีค่าประมาณ 0.5
จากผลกระทบทางสุขภาพที่ได้ทำการศึกษามาก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องมีค่ามาตรฐานทั้งระยะสั้น 24 ชั่วโมง และระยะยาวคือ ปี โดยค่าเฉลี่ยระยะยาว ปีของ PM 2.5 นั้นกำหนดระดับต่ำสุดที่ 10 µg/m3 ซึ่งเป็นค่าที่เริ่มมีผลทำให้อัตราการตายสูงขึ้น โดยอิงข้อมูลจาก American Cancer Society's (ACS) study (Pope et al., 2002) และ Harvard Six-Cities data (Dockery et al., 99 ; Pope et al., 1995; HEI, 2000, Pope et al., 2002, Jerrett, 2005). โดยจากการศึกษาพบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัส PM2.5 ในระระยาว กับอัตราการตาย โดยปริมาณค่าเฉลี่ยของ PM2.5 ที่ผ่านมาเท่ากับ 18 ไมโครกรัม/ลบม. (11.0 – 29.6 ไมโครกรัม/ลบม. ) ใน เมืองที่ทำการศึกษา และจากการศึกษาของ ACS ค่าเฉลี่ยของ PM 2.5 ที่สัมพันธ์กับอัตราตายที่เพิ่มขึ้นคือ 20 ไมโครกรัม/ลบม. ( 9.0 – 33.5 ไมโครกรัม/ลบม. ) แต่ทั้งการศึกษายังไม่สามารถกำหนดค่า Threshold ได้ว่าค่าที่ปลอดภัยสำหรับประชากรทุกคนควรเป็นเท่าไร แต่จากศึกษา ของ Donkey et al. (1993 ) study พบว่าความเสี่ยงต่ออัตราการตายที่เพิ่มขึ้นยังเหมือนเดิมในเมืองที่ทำการศึกษาที่มีค่าความเข้มข้นระยะยาวของ PM2.5 ต่ำสุด คือ 11-12.5 ไมโครกรัม/ลบม. จึงสรุปได้ว่า ปริมาณของ PM2.5 ที่มีผลต่อสุขภาพที่ต่ำสุดคือ 11-15 ไมโครกรัม/ลบม. ดังนั้น WHO AQG จึงกำหนดค่ามาตรฐานที่ 10 ไมโครกรัม/ลบม. ค่าดังกล่าวได้ทำการศึกษาทั้งการสัมผัสในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งพบว่ามีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง และสามารถลดความเสี่ยงลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญ แม้จะไม่สามารถที่จะรับรองความปลอดภัยของทุกคน
เอกสารอ้างอิง
1. วนิดา  จีนศาสตร์. มลพิษอากาศและการจัดการคุณภาพอากาศ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
     กรุงเทพฯ.  2551.
                2. กรมพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ศอ.4  อ้างใน
3. http://hpe4.anamai.moph.go.th/hia/pm2health.php
4. http://www.home-air-purifier-expert.com/lungs.html#dustandpm 

อาการและปัจจัยเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ที่มาบทความ :  http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/heart_disease/ami/angina_pectoris.htm
  ==========================
เส้นเลือดหัวใจตีบ,กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
Angina pectoris
==========================
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเจ็บหน้าอก เนื่องจากเส้นเลือดหัวใจตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ มักจะเกิดอาการเจ็บหน้าอก เมื่อเวลาเราออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก จนเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ เราเรียกอาการเจ็บหน้าอกแบบนี้ว่า angina pectoris สาเหตุเพราะมีไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือด เรียก plaque เส้นเลือดจะแข็งตัว บางครั้ง plaque อาจจะหลุดทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
1
1คือหลอดแดงcoronary ข้างขวา
2คือหลอดเลือด coronary ข้างซ้าย

อาการของหัวใจขาดเลือด
อาการเจ็บหน้าอกจะเป็นอาการที่สำคัญและมักจะสัมพันธ์กับการทำงานหนัก หรือออกกำลังกายโดยมากมักจะไม่เกิน 10 นาที
  • แน่นหน้าอกลักษณะหนักๆเหมือนมีคนนั่งทับบนหน้าอก อาจจะเจ็บร้าวไปคอ หรือกรามด้านซ้าย แขนซ้าย มักจะเจ็บเมื่อออกกำลังกาย พักจะหายปวด
  • ตำแหน่งที่ปวด บางรายอาจจะบอกไม่ได้ชัดว่าปวดที่ไหน แต่ส่วนใหญ่จะบอกว่าเจ็บบริเวณกลางหน้าอก หรือแน่นลิ้มป ี่แต่จะเจ็บแบบแน่นๆซึ่งต่างจากโรคกระเพาะเพราะจะเจ็บแบบแสบๆ
  • บางรายมาด้วยใจสั่น
  • บางรายมาด้วยเหนื่อยง่าย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก
  • อาการเจ็บหน้าอกมักจะสัมพันธืกับการออกกำลังกายหรือทำงานหนัก หรือมีความเครียดทางอารมณ์ อาการปวดจะหายไปใน 10 นาทีหลังหยุดพัก
  • อากาศหนาวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกโดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย
  • การรับประทานอาหารที่มากไปก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก
  • อารมณ์เครียดจัดก็ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก
=================================
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ที่มา: http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/heart_disease/acs/risk.html
=================================
ใครที่มีโอกาสเกิดโรคนี้
เป็นธรรมชาติของคนเมื่ออายุมากก็มีการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ ผนังหลือดเลือดก็เช่นกันก็จะมีการเสื่อมตามอายุ ดังนั้นคนสูงอายุจะมีความเสี่ยงทุกคน แต่คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดตีบได้เร็วกว่าคนที่มีปัจจัยเสี่ยง หากเราหลีกเลี่ยง หรือกำจัดก็จะทำให้ไม่เกิดโรคหรือชลอการเกิดโรค ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแบ่งออกเป็น
1ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้
เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได ้เป็นสิ่งที่เกิดมาเมื่อคุณลืมตามองโลก ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้แก่
  • เพศ ผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ มากกว่าผู้หญิง แต่เมื่อวัยทองโอกาสเกิดเส้นเลือดตีบของผู้หญิงจะเพิ่มขึ้น
  • กรรมพันธุ์ หากคุณมีปู่ ย่า ตา ทวด พ่อ แม่ พี่น้องเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก่อนวัย คุณมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • อายุ คนที่เส้นเลือดหัวใจตีบมากจะเป็นเมืออายุมากกว่า 65 ปี แต่เนื่องจากคนอ้วนขึ้น มีโรคประจำตัวมากขึ้นทำให้คนอายุน้อยเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้น
  • เชื้อชาติ

2ปัจจัยที่สามารถควบคุมได

สถิติและงานวิจัยสำหรับรังสีเทคนิค


สถิติและงานวิจัยสำหรับรังสีเทคนิค
ผศ.สุชาติ  เกียรติวัฒนเจริญ
ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

                งานวิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นงานวิชาชีพเฉพาะที่ถือเป็นงานที่สำคัญต่อสุขภาพประชาชน อันหมายถึงชีวิตและสุขภาวะผู้ป่วย จำเป็นอย่างยิ่งที่นักรังสีการแพทย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการที่ทันสมัยยิ่งๆขึ้นไป ทั้งนี้ในปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย หรือรักษาโรค มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นไปเรื่อยๆ เทคนิควิธีการตรวจ รักษาก็พัฒนาไปมากขึ้น ดังนั้นนักวิชาชีพก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยี วิชาการต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ป่วย และผู้รับบริการให้มากที่สุด สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ผู้เขียนตระหนักเสมอตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักรังสีเทคนิค ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า การทำงานบริการผู้ป่วยซึ่งเป็นงานปฏิบัติที่ต้องควบคู่กับวิชาการเสมอ นั่นคือแต่ละครั้งที่ให้บริการจะต้องทำให้งานนั้นเกิดประโยชน์จากการใช้ความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าเรื่องฟิล์มเสีย กระบวนการล้างฟิล์มมีปัญหา เครื่องมือที่ใช้มีปัญหา หรือข้อจำกัดใดๆ ในการทำงาน ผู้เขียนและบุคลากรที่ทำงานร่วมกันในขณะนั้นมักจะระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาด้วยเหตุผลทางวิชาการเสมอมา ทำให้ยังมีความประทับใจอยู่ในความทรงจำเสมอมา อย่างไรก็ตามหลักคิดแบบนี้ไม่ได้ล้าสมัยเลยสำหรับการทำงานในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะงานด้านรังสีการแพทย์ จำเป็นต้องใช้การปฏิบัติควบคู่ความรู้ทางวิชาการและการติดตามความก้าวหน้าเทคโนโลยีสม่ำเสมอยังเป็นความจำเป็นสำหรับบุคลากรทุกคน ทุกวิชาชีพ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักรังสีการแพทย์ต้องทำคือการบันทึก ข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ที่ได้ใช้ ได้ปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม หรือสามารถแก้ปัญหาได้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้งานเครื่องเอกซเรย์แบบดิจิตอล CRพบว่าจะให้ภาพที่มี Noise สูงมาก ที่ 120kV. 2 mAS.แต่เมื่อเพิ่ม mAS. เป็น 4 mAS แล้วภาพดีขึ้นแต่ผู้ป่วยรับ dose เป็นเท่าตัว จึงแก้ปัญหาโดยการใช้ kernel filter ปรับ post processing image adjustment ช่วยในการปรับภาพแทนการเพิ่ม mAS ก็จะทำให้ภาพดีขึ้น เป็นต้นเมื่อเรียบเรียงให้เป็นระบบ ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่ใช้เทคนิคการปรับภาพช่วยแทนการเพิ่ม mAS ค่าทางพารามิเตอร์ที่ใช้ในการปรับภาพ ผลการประเมินจากรังสีแพทย์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็จะกลายเป็นผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อวงการนั่นคือ ผู้ที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาลอื่นก็สามารถนำเอาวิธีการนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาทดลองใหม่ ส่วนผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ก็ได้ประโยชน์จากการเสนอผลงานผ่านสื่อสาธารณะเช่น วารสาร การนำเสนอประชุมวิชาการ แล้วก็สามารถนำไปเลื่อนระดับงานได้ ส่วนผู้ป่วยก็ได้รับประโยชน์โดยตรงซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการวิจัยครั้งนี้คือ ได้รับปริมาณรังสีน้อยลงโดยที่การวินิจฉัยโรคยังถูกต้องแม่นยำเช่นเดิม ผู้เขียนยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าประโยชน์ของงานวิจัยที่ดีควรเป็นงานวิจัยที่สามารถไปใช้ในการทำงานจริงได้ และเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับนักรังสีการแพทย์ (นักรังสีเทคนิค) บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการทำงานจะเจอคำถามหลักๆ คือ จะทำวิจัยเรื่องอะไรดี  กำลังทำงานวิจัยอยู่แต่ไม่รู้จะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร  วิเคราะห์ข้อมูลไม่รู้จะถูกหรือเปล่า นอกนั้นก็อาจเป็นคำถามปลีกย่อยในเรื่องเทคนิคการเก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่างที่เลือก หรือแม้แต่จะเริ่มเขียนโครงร่างการวิจัยอย่างไร  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะเมื่อทำงานไปนานๆ ก็ต้องการสร้างผลงานให้เกิดประโยชน์ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นนักปฏิบัติมาก่อนก็มีประสบการณ์เช่นเดียวกันมาก่อน แต่เมื่อผ่านจุดนั้นมาจนกระทั่งได้เป็นวิทยากรแล้วก็คงจะบอกเล่าให้ทราบว่า ทุกคนในที่นี้สามารถทำวิจัยได้ตอลดเวลาที่ทำงานอยู่ แม้บางแห่งจะเป็นแผนกเอกซเรย์ ของโรงพยาบาลขนาดเล็กของอำเภอก็ตาม หลักคิดของผู้ที่คิดจะทำวิจัยเบื้องต้นคือ

1.เป็นนักคิด รู้จักคิดที่จะแก้ปัญหาของงานที่ทำอยู่ หรือหากงานที่ทำไม่มีปัญหาก็คิดเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ก้าวหน้ามากขึ้น คิดเพื่อให้ผลงานที่คิดเกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการ โดยกระบวนการคิดต้องยืนอยู่บนข้อจำกัดของความเป็นไปได้ทั้งเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ งบประมาณ แหล่งทุนวิจัย และความร่วมมือ



รูป 1 แสดง EDRtechnology ของบริษัท Fuji ที่ช่วยให้ได้ภาพที่มีคุณภาพที่ดี
โดยใช้ปริมาณรังสีที่น้อยลงไปสิบเท่า(http://www.fujifilm.com/products/medical/technologies/edr/)

จากรูปที่ 1 จะเห็นว่าทำให้เกิดความคิดว่าแล้วเทคโนโลยีนี้คืออะไร ทำงานอย่างไร เราเข้าใจมันมากน้อยแค่ไหน หากไม่มีเครื่องที่มีเทคโนโลยีนี้ใช้เราจะลดโดสให้ผู้ป่วยได้อย่างไร จะเห็นว่าหากเป็นนักคิดแล้วจะช่วยให้เกิดคำถามมากมายในสมองทันทีที่ได้อ่านข้อมูลนี้ แต่หากไม่ใช่นักคิดแล้ว ก็คงเพียงแต่อ่านให้รู้ว่า EDR ลดโดสให้ผู้ป่วยได้เท่านั้นเอง

                2. เป็นนักเขียน การเขียนบันทึก เขียนในสิ่งที่พบทั้งปัญหา การแก้ไข รวบรวมไว้ให้เป็นระบบ แล้วเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รู้เมื่อผลงานนั้นเป็นรูปธรรม ก็จะช่วยให้เกิดประกายความคิดในการปรับเปลี่ยนบันทึกให้เป็นผลงานวิจัย เกิดหัวข้อวิจัย โดยทำให้เป็นระบบตามระเบียบวิธีวิจัยได้ง่ายกว่าการไม่มีจุดตั้งต้นอะไร
                3. เป็นนักอ่านนั่นคือผู้ที่ทำงานภาคปฏิบัติแบบนักรังสีการแพทย์ทั้งหลายต้อง หมั่นอ่านหาความรู้เพิ่มเติมให้ทันเหตุการณ์ทั้งเรื่องเครื่องมือ ภาพรังสีกับรอยโรคต่างๆ อ่านผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นการอ่านยังทำให้นักรังสีมีความรู้รอบด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม การเมือง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม บันเทิง ล้วนทำให้เกิดปัญญาและนิสัยรักการอ่าน เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด
                4. เป็นนักฟัง ทำให้เกิดการเรียนรู้จากผู้ที่พูดให้เราฟัง ก่อให้เกิดการคิดตาม เกิดความอยากทำหรือทดสอบจากที่ได้ฟังมา การฟังที่ช่วยให้จดจำได้ดีคือฟังแล้วบันทึก กับการฟังแล้ววิเคราะห์สิ่งที่ได้ฟัง เพราะบางครั้งจำเป็นต้องเลือกนำเอาสิ่งที่ได้รับฟังไปใช้ในบางส่วน หรือจะต้องประยุกต์ให้เข้ากับงานที่เราทำ เช่นเพื่อนที่ทำงานต่างโรงพยาบาลบอกเล่าให้ฟังถึงวิธีแก้ปัญหาการถ่ายภาพเอกซเรย์ผู้ป่วยสูงอายุจะมีปัญหาการกลั้นใจขณะเอกซเรย์ ก็ต้องรับฟังวิธีแก้ปัญหาแล้วคิดตามว่าจะใช้ที่แผนกเราได้หรือไม่
                5. เป็นนักพูดในที่นี้ผู้บรรยายหมายถึงการพูดทางวิชาการ ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยเป็นวิทยากรไม่ว่าระดับใดมาก่อน หลายคนไม่กล้าพูดบรรยายเชิงวิชาการ อาจด้วยสาเหตุที่มักจะบอกว่าพูดไม่เก่ง ไม่สามารถพูดได้ แต่ผมคิดว่าการพูดเชิงวิชาการเป็นสิ่งสำคัญเพราะการจะพูดทางวิชาการให้ใครฟังต้องเป็นผู้รู้  จุดเริ่มต้นในแผนกก่อน เช่น การจัดบรรยายทบทวนความรู้  การจัดสัมมนา case ในแผนกทุกวันศุกร์ หรือการอภิปรายปัญหาการทำงานในแผนก นักรังสีการแพทย์ทุกคนควรฝึกที่จะพูดแสดงทัศนะเชิงวิชาการ และควรสมัครเป็นวิทยากรบรรยายก่อนสักครั้งหนึ่ง ก็จะเกิดการเรียนรู้มากขึ้นเพราะการจะเป็นวิทยากรนั้นแม้จะพูดในแผนกก็ต้องมีการเตรียมตัวทั้งเรื่องที่จะพูด เนื้อหาต้องถูกต้อง บุคลิกภาพ การเรียบเรียงคำพูดให้ผู้อื่นเข้าใจ รวมไปถึงการเตรียมตัวตอบคำถามอีกด้วย หากไม่รู้จักค้นคว้า ก็อาจทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการพูด หรือเกิดความประหม่า เกิดความกลัวในการพูดครั้งต่อไป เป็นต้น

ทีนี้มาดูว่ากระบวนการคิด อ่าน เขียน ฟัง พูด เมื่อรวบรวมมาได้แล้วจะเริ่มร่างโรงการวิจัยให้เป็นรูปร่างกันว่าจุดเริ่มต้นจะเริ่มตรงไหนดีผู้บรรยายก็ขอยกเป็นหัวข้อเชิงวิชาการเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยกับวิชาการสถิติไปเป็นลำดับๆ ครับ

โครงร่างงานวิจัย(Research Proposal)
                เป็นการเขียนเค้าโครงที่จะบอกเรื่องราว (ให้หน่วยงาน หรือ กรรมการที่ให้ทุน) ทราบว่าผู้เขียนจะทำวิจัยเรื่องอะไร มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อย่างไร  มีวิธีการทำตามลำดับอย่างไร คาดว่าจะได้ประโยชน์อย่างไร และต้องใช้เวลาและงบประมาณเท่าไหร่

ทำไมต้องมีโครงร่างการวิจัย
                ในแง่ผู้วิจัยแล้วโครงร่างการวิจัยทำให้รู้ว่าเนื้อหาขอบเขตที่จะทำการทดลองมีแค่ไหน ลำดับวิธีการทดลองทำอะไรก่อนหลัง รวมทั้งรู้ว่า ต้องทำอะไรบ้าง และติดขัดหรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ในแง่ผู้พิจารณาทุนวิจัย หรือหน่วยงานต้นสังกัด ทำให้ทราบว่าผู้วิจัยมีความคิดจะทำอะไร มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เกิดประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ จะได้ตัดสินใจได้ถูกว่าจะให้ทุน หรือปฏิเสธ หรือมีเงื่อนไขเสนอแนะแนวทางให้ผู้วิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้นจึงจะให้ทุน สำหรับผู้ที่เป็นที่ปรึกษางานวิจัยจะได้ทราบว่างานวิจัยนั้นโดยวิธีการแบบที่เสนอมามีโอกาสสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ใช้วิชาการได้ถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ รวมทั้งรูปแบบการเขียนเป็นไปตามที่แหล่งทุนกำหนดหรือไม่ ซึ่งหากการเขียนโครงร่างมีความชัดเจนสมบูรณ์ถูกต้องและเป็นเรื่องน่าสนใจแล้วก็ทำให้มีโอกาสได้รับทุนวิจัยมากขึ้น

การเขียนโครงร่างการวิจัยควรเขียนตามระเบียบวิธีวิจัยหรือตามรูปแบบการวิจัยที่แหล่งทุนกำหนดว่าจะประกอบด้วยหัวข้อเรื่องอะไรบ้างและมีการลำดับหัวข้ออย่างไรต้องทำตามข้อกำหนดเพื่อให้ผู้พิจารณาอ่านได้ง่ายตามรูปแบบที่แหล่งทุนกำหนด หากไม่ทำตามกฏเกณฑ์ที่วางไว้แล้วอาจไม่ได้รับการจัดสรรทุน ทั้งๆที่เรื่องที่เสนอมีความน่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง



ตัวอย่าง โครงร่างงานวิจัย

หัวข้อวิจัย            การสร้างเครื่องวัดขนาดจุดโฟคอลสปอตของหลอดเอกซเรย์ ชนิด Pinhole camera

ผู้วิจัย                     นส.ศศิธร ประทุม, สุชาติ  เกียรติวัฒนเจริญ

ความสำคัญของปัญหา (โดยย่อ)
หลอดเอกซเรย์เมื่อใช้งานนานมากขึ้นก็จะเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน การทดสอบคุณภาพขนาดโฟกัสหลอดเอกซเรย์เป็นหนึ่งในกระวนการควบคุมคุณภาพเครื่องมือที่จำเป็นต้องตรวจสอบเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพราะขนาดโฟคอลสปอต ที่เปลี่ยนแปลง(1) จะส่งผลต่อคุณภาพภาพถ่ายรังสี แต่อุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบมีหลายแบบ แต่ทุกแบบจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  Pinhole camera เป็นหนึ่งใน อุปกรณ์การทดสอบขนาดโฟคอล สปอต ของหลอดเอกซเรย์ ซึ่งมีราคาสูงมาก ผู้วิจัยดูจากหลักการทำงานแล้วคิดว่าหากสามารถสร้างขึ้นใช้เองในประเทศก็จะเกิดประโยชน์ในการลดการสูญเสียเงินตราของประเทศ และมีอุปกรณ์ทดสอบเพื่อควบคุมคุณภาพรังสีใช้ในแผนก อีกทั้งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่จะได้ภาพวินิจฉัยโรคที่ดีมีคุณภาพ

ทฤษฎีหรือเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
จากการค้นคว้าเอกสารงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่พบว่ามีการวิจัยเรื่องนี้มาก่อน แต่มีเอกสารวิชาการ(2)ที่กล่าวถึง การวัดโฟคอลสปอตจะใช้อุปกรณ์ทดสอบ 2 อย่างคือ Star test pattern หรือ Pinhole camera โดยการถ่ายภาพรังสี Star test pattern หรือ Pinhole camera ที่ใช้ทดสอบแล้วนำมาคำนวณหาขนาดของ effective focal spot ตามมาตรฐาน NEMA โดยถ้าขนาดโฟคอลสปอตเล็กกว่า 0.8 mm. จะต้องวัดค่า % tolerance +50, ถ้ามีขนาดมากกว่า 0.8 ถึง 1.5 mm. จะต้องได้ % tolerance +40 และถ้าขนาดโฟคลอสปอตเกิน 1.5mm. จะต้องได้% tolerance +30 ซึ่งผู้วิจัยคาดว่าจะประดิษฐ์ pinhole camera ให้เป็นไปตามมาตรฐาน NEMA

วัตถุประสงค์
สร้างอุปกรณ์ pinhole camera เพื่อใช้ทดสอบขนาดโฟคอลสปอตหลอดเอกซเรย์
สมมุติฐานการวิจัย
                อุปกรณ์วัดขนาดโฟคอลสปอตที่สร้างขึ้นให้ผลไม่แตกต่างจากที่ซื้อจากต่างประเทศ

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัย
1.             ท่ออลูมิเนียมขนาด 1 cm. 4 ท่อน
2.             แผ่นอลูมิเนียมหนา 2 mm ขนาด 6x6 นิ้ว 2 แผ่น
3.             ดอกสว่านขนาด 1/64 นิ้ว
4.             เครื่องเอกซเรย์
5.             ฟิล์ม
6.             Star test pattern
7.             Pinhole camera
8.             นอต สกรู ขนาดต่างๆ
วิธีการศึกษา
1.             สร้าง pinhole camera ตามแบบร่าง
2.             ทดสอบถ่าย pinhole camera และ Star test pattern ที่ซื้อจากต่างประเทศ
3.             ทดสอบถ่าย pinhole camera ที่สร้างขึ้น ด้วยเทคนิคเดียวกัน
4.             วัดขนาดโฟคอลสปอร์ตที่ได้บนฟิล์มด้วยโปรแกรม image J (NIH)

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
ข้อมูลการถ่ายภาพรังสีบนฟิล์มจำนวน40 แผ่น

การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และ t-test

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ได้เครื่องมือสำหรับทดสอบโฟคอลสปอร์ตในราคาถูกและมีประสิทธิภาพดี

งบประมาณ2000 บาท

แผนดำเนินการวิจัย


เอกสารอ้างอิง
1. Papp J. Quality management in the imaging sciences. St. Louis: Mosby, 1998: 91-92.
                2. Gray JE, Winkler NT, Stears J, Frank ED.Quality control in diagnostic imaging.                                  Baltimore:University Park Press, 1983: 83.

                จะเห็นว่าการเขียนโครงร่างการวิจัยจะทำให้เกิดความคิดที่ครบวงจร ทำให้รู้ตั้งแต่ที่มาของโครงการ ไปจนกระทั่งผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เหลือเพียงแค่ผลการทดลองจริงกับการสรุปผลที่ได้ ก็จะสามารถนำไปเขียนเป็นผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้แล้ว แต่หากไม่มีการร่างโครงร่างการวิจัยแล้วเราอาจไม่ตกผลึกทางความคิดว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ขั้นตอนแต่ละขั้นตอนจะทดลองอย่างไร และคาดการณ์ไม่ได้ว่าหน้าตาข้อมูลจะเป็นอย่างไร และจะวิเคราะห์เพื่อสรุปผลได้อย่างไร เป็นต้น (งานวิจัยนี้เสร็จสมบูรณ์ตีพิมพ์ใน วารสารเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดาวน์โหลดจากวารสารออนไลน์http://www.ams.cmu.ac.th/journal/attachments/article/333/200605107.pdf)


                เมื่อได้โครงร่างการวิจัยแล้วก็ลงมือปฏิบัติทำงานวิจัยตามแผนงานที่วางไว้ ทีนี้มาดูกันว่าปัญหาที่มักจะพบในระหว่าการทำงานวิจัยคือข้อมูลที่ได้ออกมาแล้วจะวิเคราะห์อย่างไร บางคนทำวิจัยโดยไม่ได้เขียนโครงร่างในเรื่องเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากไม่ทราบว่าจะเลือกสถิติอะไรในการวิเคราะห์ข้อมูลนั่นเอง ดังนั้นผู้บรรยายจะเสนอภาพรวมของการวิเคราะห์ข้อมูลให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการบรรยายทางสถิติเพื่อให้ผู้รับฟังรู้กระจ่างได้ในเวลาอันจำกัดนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่การทำความเข้าใจเรื่องสถิติต้องอาศัยการทำความเข้าใจในเรื่องลักษณะข้อมูลและเงื่อนไขในการทดสอบที่เป็นกฏเกณฑ์ทางสถิติ หากไม่เป็นไปตามกฏเกณฑ์ที่กำหนดแล้วก็อาจเกิดความคลาดเคลี่อนในการวิเคราะห์ อาจส่งผลทำให้การวิจัยนั้นใช้ไม่ได้เลยทีเดียว ดังนั้นผู้วิจัยต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นอย่างมาก อย่าวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้จินตนาการว่าควรจะเป็นอย่างไร แต่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้องเท่านั้นงานวิจัยจึงจะมีคุณค่า น่าเชื่อถือและใช้ประโยชน์ได้จริง

ความสำคัญของการวิเคราะห์ทางสถิติในงานวิจัย
                ต้องถือว่ามีความสำคัญมากทีเดียว ทั้งนี้เพราะการจะบอกว่าผลงานวิจัยนั้นได้ผลตามที่คาดหมายหรือไม่นั้นจะต้องบอกด้วยสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดในรูปแบบทางคณิตศาสตร์ที่สามารถบกได้ว่าผลที่ได้นั้นดีขึ้นหรือแตกต่างกันอย่างไร หากไม่มีการบ่งบอกด้วยตัวเลขทางคณิตศาสตร์แล้ว ก็ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไรว่างานวิจัยนั้นได้ผล สำหรับบางคนอาจกังวลว่างานวิจัยต้องใช้สถิติแล้วจะต้องหาสูตรสถิติยุ่งยากไปหมด ผู้บรรยายคิดว่าไม่ใช่เรื่องน่าวิตกแต่ประการใดเพราะผู้วิจัยไม่ได้ใช้สูตรเหล่านั้นโดยตรงแต่ผู้วิจัยควรมีความเข้าใจว่า ทำไมงานวิจัยชิ้นนี้ถึงใช้สถิติแบบนี้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งใช้สถิติอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้วิจัยสามารถประยุกต์แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลให้เข้ากับงานวิจัยที่ตนเองทำอยู่ได้อย่างเหมาะสม

เทคนิคการเลือกสถิติสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย
                สิ่งที่ผู้วิจัยต้องคิดก่อนว่าจะใช้สถิติอะไรในการวิเคราะห์ข้อมูลของงานวิจัยที่ทำอยู่นั้นจะต้องรู้จักข้อมูลของงานวิจัยนั้นก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร เนื่องจากมีผลต่อการเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ เช่นข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้มาบางส่วนมีลักษณะข้อมูลเชิงคุณภาพ บางส่วน มีลักษณะเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ ยิ่งทำให้สับสนต่อการวิเคราะห์ข้อมูลว่าจะทำอย่างไร เรื่องนี้มีทางออกเสมอเพราะสามารถใช้การวิเคราะห์สถิติหลากหลายแบบในงานวิจัยชิ้นหนึ่งๆ ขอยกตัวอย่างงานวิจัยของ นักศึกษารังสีเทคนิคที่อยู่ในความดูแลของผู้บรรยาย ซึ่งทำภาคนิพนธ์ก่อนจบการศึกษา เพื่อประกอบให้ทุกท่านได้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วชื่องานวิจัยสามารถที่จะบ่งบอกอะไรได้หลายๆ อย่างทั้งในเรื่องทิศทางการวิจัย สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้อะไรจากการวิจัย ลักษณะข้อมูล รวมทั้งสถิติที่จะใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ในที่นี้ผู้บรรยายจะใช้วิธียกตัวอย่างจากกรณีศึกษาที่เป็นงานวิจัยจริงมาเป็นตัวอย่างประกอบ ซึ่งผู้อ่านสามารถติดตามผลงานวิจัยเหล่านี้ได้จากเอกสารภาคนิพนธ์นักศึกษารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ห้องสมุดคณะเทคนิคการแพทย์ และบางชิ้นงานวิจัยได้นำไปตีพิมพ์ผลงานในวารสารในประเทศหรือต่างประเทศ สามารถสืบค้นได้จากเวปไซต์อย่างสะดวก



กรณีศึกษาที่ 1
งานวิจัย : การเปรียบเทียบความพึงพอใจก่อนและหลังการปรับปรุง ของผู้รับบริการในกลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลจังหวัดแพร่ ประจำปี 2549
ผู้วิจัย       : นายประจวบ  สุขสบาย
วัตถุประสงค์ :     1. เพื่อรับทราบความพึงพอใจของผู้มารับบริการ
                                2. เพื่อนำผลการวิจัยมาเปรียบเทียบกันและนำมาพัฒนาคุณภาพในการบริการได้อย่าง
    ต่อเนื่อง
                วิธีการดำเนินการวิจัย         : แจกแบบสอบถามผู้รับบริการทั้งผู้ป่วย และ บุคลากรที่มาใช้บริการของแผนก
                ลักษณะของข้อมูล              :  เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ และมีมาตรวัดข้อมูลแบบนามบัญญัติ (Norminal scale)
และ คะแนนแบบสอบถามเป็นแบบเรียงอันดับ (Ordinal scale)
สถิติที่ใช้                                : สถิติพรรณนา แสดงผลลัพท์เป็น จำนวน และ ร้อยละ

กรณีศึกษาที่ 2
งานวิจัย         :  การหาแนวทางการวัดปริมาณรังสีในทางรังสีวินิจฉัยโดยการใช้ TLD
ผู้วิจัย      : นส. วิริยาภรณ์   สายเกิด
วัตถุประสงค์ : เพื่อหาแนวทางการวัดปริมาณรังสีในทางรังสีวินิจฉัยโดยใช้ TLD
                วิธีการดำเนินการวิจัย : 1. วัดปริมาณรังสีหน้าและหลัง Phantom ในแนวกระดูกสันหลังโดยใช้เม็ด TLD
2. วัดโดยใช้ Ionization chamber dosimeter (IC) ในตำแหน่งเดียวกัน
3. วิเคราะห์ข้อมูล หาค่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าโดสที่ได้จาก IC และTLD
4. เปรียบเทียบค่าโดสที่ได้หน้าและหลัง Phantom จากการอ่านค่าที่ได้จากการวัด
ด้วย TLD
                                                               
                ลักษณะของข้อมูล              :  เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ และมีมาตรวัดข้อมูลแบบอัตราส่วน (Ratio scale)
สถิติที่ใช้                                : 1. สถิติพรรณนา แสดงผลลัพท์เป็นค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
                                                       (SD)
   2. สถิติอนุมาน  โดยใช้paired t-test เพื่อเปรียบเทียบระหว่างค่าที่วัดได้ด้านหน้า
และหลัง Phantom ผลที่ได้แสดงค่าเป็นค่า p-value
   3. สถิติ สหสัมพันธ์ (Correlation) หาความสัมพันธ์ระหว่าง ค่า Dose ที่ได้จากการ
วัดด้วย IC  กับ ค่าที่วัดได้จาก  TLD ผลลัพท์ แสดงค่าเป็นค่าความสัมพันธ์ (r)





กรณีศึกษาที่ 3  
งานวิจัย           : การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพยากร์ อายุน้ำยาล้างฟิล์มในการควบคุมคุณภาพเครื่องล้างฟิล์มอัตโนมัติของห้องถ่ายภาพรังสีเต้านม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ผู้วิจัย      : นส. อัจฉราภรณ์  ศรีสฤงฆาร
วัตถุประสงค์ : เพื่อวิเคราะห์และพยากรณ์หาอายุของน้ำยาล้างฟิล์ม โดยการใช้ข้อมูลที่ได้จากกราฟควบคุม
(Control chart) จากโปรแกรมการทำการควบคุมคุณภาพเครื่องล้างฟิล์มอัตโนมัติ
                วิธีการดำเนินการวิจัย :   1. เก็บข้อมูลที่ได้จากการควบคุมคุณภาพเครื่องล้างฟิล์มอัตโนมัติของห้องถ่ายภาพ
                                                      รังสีเต้านม โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่ (เก็บข้อมูลจาก Control chart)
                                                                2. แบ่งช่วงอายุน้ำยาล้างฟิล์มเป็นสามช่วง
                ลักษณะของข้อมูล              :  เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ และมีมาตรวัดข้อมูลแบบอัตราส่วน (Ratio scale)
สถิติที่ใช้                                : 1. สถิติOne-way ANOVA  เพื่อเปรียบเทียบระหว่างค่าความไวที่วัดได้ระหว่าง
                                                อายุน้ำยาทั้งสามช่วงว่าแตกต่างกันหรือไม่
                                                 2.  สถิติ t-test (one-tail test) เพื่อทดสอบว่าค่าความไวและค่าความเปรียบต่างไม่
         เกินขอบเขต + 10% ของเส้นควบคุม
3. สถิติ Kruskal-Wallis test เปรียบเทียบค่า Contrast และ Fog
ของอายุน้ำยาทั้งสามช่วง
4. สถิติ สมการเส้นถดถอย ใช้พยากรณ์อายุน้ำยาล้างฟิล์มที่
กรณีศึกษาที่ 4
งานวิจัย         :  การประเมินความไม่แน่นอนในการวัดสำหรับการตรวจสอบคุณภาพ เครื่องเอกซเรย์
           คอมพิวเตอร์ : การศึกษาต้นแบบ
ผู้วิจัย      : นาง รัชวรรณ   ใจศีลธรรม
วัตถุประสงค์ : ประเมินความไม่แน่นอนในการวัดสำหรับการตรวจสอบคุณภาพเครื่องเอกซเรย์
                        คอมพิวเตอร์
วิธีการดำเนินการวิจัย :   1. ตรวจสอบคุณภาพเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ด้วย Water phantom
(GE. Series 2336931)วัดค่า ROI (CT.numbert) และ แบบวัดระยะทาง
                                                2. หาค่าความไม่แน่นอนของการวัดที่เกิดจากผู้ทดสอบที่เป็นนักรังสีการแพทย์
                                                3. หาค่าความไม่แน่นอนของการวัดที่เกิดจากเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้
ลักษณะของข้อมูล              :  เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ และมีมาตรวัดข้อมูลแบบอัตราส่วน (Ratio scale)
สถิติที่ใช้                                : % Uncertainty
                                               




กรณีศึกษาที่ 5
งานวิจัย             : เครื่องช่วยจับตลับฟิล์มสำหรับการถ่ายภาพรังสีกะโหลกศีรษะขวางเตียง (Lateral cross table) ในผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน
ผู้วิจัย      :
วัตถุประสงค์ : สร้างอุปกรณ์ยึดจับตลับฟิล์ม
วิธีการดำเนินการวิจัย     1.ทดสอบความสะดวกและความพึงพอใจในการใช้งานในการใช้งาน
2.ทดสอบความปลอดภัยในการใช้งานจริง
3.ทดสอบความถูกต้องและคุณภาพภาพรังสีที่ได้
ลักษณะของข้อมูล              :  ข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณ
สถิติที่ใช้                                : 1. สถิติพรรณนา (ร้อยละ, ค่าเฉลี่ยคะแนน, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)
2. สถิติพรรณนา (ร้อยละ, ค่าเฉลี่ยคะแนน, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)
3.paired t-test (ทดสอบความแตกต่างระหว่างคะแนนการอ่านผล
ของรังสีแพทย์ที่ได้จากการอ่านฟิล์มที่ใช้และไม่ได้ใช้อุปกรณ์ยึดจับที่
พัฒนาขึ้น)
4. Kappa test (ทดสอบความสอดคล้องของผลการอ่านฟิล์มของรังสี
     แพทย์ที่ได้จากการอ่านฟิล์มที่ใช้และไม่ได้ใช้อุปกรณ์ยึดจับที่พัฒนาขึ้น)

กรณีศึกษาที่ 6
งานวิจัย         :  การตรวจสอบคุณภาพจอแสดงผลทางรังสีวินิจฉัย ด้วย SMPTE test pattern
ผู้วิจัย      : นางสุจินดา  เตจ๊ะ
วัตถุประสงค์ : ตรวจสอบคุณภาพจอแสดงผลทางรังสีวินิจฉัยชนิดต่างๆ ได้แก่ จอ LCD hiresolutionและ
Super VGA LCD monitor
วิธีการดำเนินการวิจัย     1.ใช้ Softwareเปิดรูป SMPTE มาตรฐาน จากนั้นวัดค่าในแต่ละตำแหน่งด้วย LUX
meterตามมาตรฐานการวัด IAEA
ลักษณะของข้อมูล              :  ข้อมูลปริมาณ
สถิติที่ใช้                                : 1 Chi-square test เพื่อทดสอบความสม่ำเสมอของหน้าจอ (Uniformity)
2. t-test (เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างจอ Hi-res LCD กับ SVGA)

จากกรณีศึกษาที่ยกตัวอย่างมาประกอบจะเห็นได้ว่างานวิจัยด้านรังสีการแพทย์มีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ การได้มาของข้อมูลมีทั้งข้อมูลที่ได้จากการทดลองถือเป็นข้อมูลปฐมภูมิ (Primary data) การเก็บแบบสอบถาม รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นที่เป็นข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data)มีมาตรวัดข้อมูลหลายแบบ และลักษณะรูปแบบการวิจัยที่หลากหลายทำให้มีการเลือกใช้สถิติแตกต่างกันไป ซึ่งในที่นี้ผู้บรรยายจะขอสรุปแนวทางการเลือกใช้สถิติสำหรับงานวิจัยดังนี้

แนวทางการเลือกใช้สถิติสำหรับงานวิจัย
1.        ควรเลือกใช้ให้เป็นไปตามกฏเกณฑ์ ที่เป็นข้อกำหนดทางสถิติ ได้แก่ สถิติที่ใช้ตัวพารามิเตอร์ ใช้ได้กับข้อมูลที่มีการกระจายข้อมูลแบบปกติ ข้อมูลได้มาโดยสุ่ม มีมาตรวัดข้อมูลแบบอันตรภาคหรืออัตราส่วนขึ้นไป จำนวนตัวอย่างมีขนาดใหญ่ ส่วนสถิติที่ไม่ใช้พารามิเตอร์ มักจะใช้สำหรับการตรวจสอบข้อมูลที่มีลักษณะเบ้ (การกระจายไม่เป็นแบบปกติ) หรือมีขนาดตัวอย่างน้อย มาตรวัดข้อมูลเป็นมาตรนามบัญญัติหรือเรียงอันดับ
2.        ควรให้ความสำคัญกับขนาดตัวอย่างเนื่องจากการทดสอบทางสถิติหากมีข้อมูลมากก็จะทำให้ความคลาดเคลื่อนในการวิเคราะห์มีน้อยกว่าการวิเคราะห์ที่มีขนาดตัวอย่างน้อย
3.        การเลือกสถิติที่จะวิเคราะห์ข้อมูลต้องเลือกให้ถูกต้อง เหมาะสม เพราะบางงานวิจัยอาจเลือกใช้สถิติได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกเพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงกฏเกณฑ์ให้ถูกต้องเป็นหลัก
4.        ไม่กังวลกับการใช้สถิติพรรณนา เช่นนำเสนอข้อมูลเป็นร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าจะทำให้งานวิจัยนั้นขาดความเชื่อถือแต่ที่จริงแล้วเป็นการใช้สถิติทดสอบที่ไม่นำไปอ้างอิงในกลุ่มประชากร แต่สามารถใช้ได้สำหรับการทดสอบเฉพาะเวลานั้นกับกลุ่มตัวอย่างนั้นเท่านั้นเอง ทั้งนี้อาจเพราะข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ม่ามารถเลือกใช้การอนุมานทางสถิติ
5.        การแปลผลทางสถิติให้ตรวจสอบค่า p-value หรือค่า Sig. ที่ได้จากการแสดงผลออกมาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทดสอบทางสถิติ หากค่า p-value น้อยกว่า 0.05แสดงว่าการทดสอบนั้นให้ผลที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
นอกจากสถิติจะใช้สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลในงานวิจัยแล้วเรายังสามารถนำเอาการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติไปใช้ประโยชน์ในการทำรายงานประจำหกเดือน หรือรายงานประจำปี ในการรายงานจำนวนผู้ป่วย เปรียบเทียบสถิติระหว่างปีปัจจุบันกับปีเก่าๆ การนำไปใช้เพื่อประเมินประสิทธิภาพของงาน หรือใช้ประโยชน์ในการนำเสนอข้อมูลต่างๆให้ผู้บังคับบัญชาในโรงพยาบาลก็จะช่วยให้ข้อมูลรายงานมีความน่าสนใจมากกว่าการนำเสนอด้วยการพรรณนาเอกสารเพียงอย่างเดียว หรือมีแต่ตัวเลขเต็มไปหมด แต่การสรุปด้วยสถิติจะช่วยให้กระชับและเห็นชัดเจนว่าผลการรายงานประจำปี เกี่ยวกับสถิติที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย มีความแตกต่างจากปีก่อนๆหรือไม่ และรายงานเหล่านี้สามารถพัฒนาเป็นงานวิจัยได้ด้วย ขึ้นกับผู้ที่รู้จักคิด เขียน อ่านและลงมือทำ จะเห็นภาพต่างๆชัดเจนขึ้นดังตัวอย่างต่างๆ ที่ผู้บรรยายยกตัวอย่างให้เห็น










กรอบแนวทางการเลือกใช้สถิติสำหรับรังสีการแพทย์

หัวข้อวิจัย
ลักษณะข้อมูล
ตัวอย่างตัวแปร
ตัวอย่างสถิติที่ใช้วิเคราะห์
·การสำรวจการให้บริการ
·การใช้แบบสอบถาม
·การสังเกต การนับจำนวนความถี่
·     ข้อมูลเชิงคุณภาพ
·     มาตรวัดนามบัญญัติ หรือเรียงอันดับ
·     เปลี่ยนความเห็นเป็นคะแนน =>อันตรภาค
·     เพศ ศาสนา สี ฯ
·     จำนวนนับ ความเข้มหรือ เฉดสีจากการสังเกต
·     คะแนนความเห็น
·     ร้อยละ ค่าเฉลี่ย
·     Chi-square                  (วัดความสัมพันธ์, หาสัดส่วน,                   วัดการกระจาย)
·     ทดสอบอุปกรณ์ เครื่องมือ
·     การสร้างเครื่องมือ อุปกรณ์ใหม่ นวัตกรรม
·     การเปรียบเทียบประสิทธิภาพเครื่องมือ
·     ค่าตัวเลขจากเครื่องมือ
·     การวัดค่าจริง
·     ค่าที่เกิดจากทดสอบที่มีผลประเมินเป็นคะแนนที่บอกค่าและคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้
·     ค่าซีทีนัมเบอร์
·     kV, mAS.
·     อุณหภูมิ ความดัน
·     ระยะเวลาที่แสดงผล
·     ค่า pixel value
·     ค่าความสว่าง
·     ปริมาณรังสี
·     ความดำฟิล์ม
·     t-test one tail test (ประชากรกลุ่มเดียว)
·     paired t-test (กลุ่มเดียววัดซ้ำ หรือวัดเปรียบเทียบก่อนหลัง
·     t-test two tail test (ประชากร 2 กลุ่ม)
·     One way ANOVA (หลายกลุ่มประชากร ตัวแปรเดียว)
·     Two way ANOVA (หลายกลุ่มประชากร หลายตัวแปร)
·     Chi-square (ข้อมูลเบ้)
·     การหาความสัมพันธ์
·     การพยากรณ์ค่า การหาแนวโน้ม

·     ค่าตัวเลขจากเครื่องมือ
·     การวัดค่าจริง
·     ค่าที่เกิดจากทดสอบที่มีผลประเมินเป็นคะแนนที่บอกค่าและคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้
·     ค่าซีทีนัมเบอร์
·     kV, mAS
·     อุณหภูมิ ความดัน
·     ระยะเวลา
·     ค่า pixel value
·     ค่าความสว่าง
·     ปริมาณรังสี
·     ความดำฟิล์ม
·     Correlation
·     Linear regression
·     Chi square
·     ความเห็นทางการแพทย์
·     การวัดเปรียบเทียบค่ามาตรฐานทางการแพทย์
·     การวินิจฉัยโรค
·     การตัดสินใจสองทิศทาง เป็นหรือไม่เป็นโรค พบหรือไม่พบรอยโรค
·     ผลการวินิจฉัยรอยโรค

·     t-test, ANOVA
·     Kappa
·     Mc.Nemar
·     Chi-square
·     Factorial
·     Wilcoxon
·     Mann-Whitney
·     Uniform
·     วัดความคลาดเคลื่อน
·     ตัวเลขความผิดพลาด
·     จำนวนครั้งที่มากหรือน้อยกว่าขอบเขตที่ยอมรับได้
·     ค่าความน่าจะเป็น
·     ค่านับวัดที่ผิดไปจากมาตรฐาน
·     จำนวนครั้งที่ผิดไปจากมาตรฐาน
·     % error
·     Mean+SD, %CV
·     Statistics QC.
·     % Uncertainty

เอกสารอ้างอิง
ประจวบ สุขสบาย. การเปรียบเทียบความพึงพอใจก่อนและหลังการปรับปรุง ของผู้รับบริการในกลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลจังหวัดแพร่ ประจำปี 2549 . ภาคนิพนธ์วิทยาศาสตร์บัณฑิต(รังสีเทคนิค) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2549.
รัชวรรณ ใจศีลธรรม. การประเมินความไม่แน่นอนในการวัดสำหรับการตรวจสอบคุณภาพ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ : การศึกษาต้นแบบภาคนิพนธ์วิทยาศาสตร์บัณฑิต(รังสีเทคนิค) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.2550.
วิริยาภรณ์   สายเกิด. การหาแนวทางการวัดปริมาณรังสีในทางรังสีวินิจฉัยโดยการใช้ TLD. ภาคนิพนธ์วิทยาศาสตร์บัณฑิต(รังสีเทคนิค) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2545.
ศศิธร ประทุม, สุชาติ  เกียรติวัฒนเจริญ. การสร้างเครื่องวัดขนาดจุดโฟคอลสปอตของหลอดเอกซเรย์ ชนิด Pinhole camera.วารสารเทคนิคการแพทย์เชียงใหม่ 2549; 39: 107-12.
สุจินดา เตจ๊ะ. การตรวจสอบคุณภาพจอแสดงผลทางรังสีวินิจฉัย ด้วย SMPTE test pattern การศึกษาต้นแบบภาคนิพนธ์วิทยาศาสตร์บัณฑิต(รังสีเทคนิค) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2550.
สุชาติ  เกียรติวัฒนเจริญ. การใช้โปรแกรมประยุกต์ทางสถิติ SPSS for Windowsในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น.                เอกสารประกอบการสอนวิชา 510713. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่, 2552.
สุชาติ  เกียรติวัฒนเจริญ.เอกสารประกอบการบรรยาย การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อการวิจัยทางรังสีการแพทย์สำหรับการเรียนการสอนนักศึกษาสาขาวิชารังสีเทคนิค. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่, 2553.
สุชาติ  เกียรติวัฒนเจริญ.เอกสารประกอบการบรรยาย การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อการวิจัยทางรังสีการแพทย์.เอกสารประกอบการบรรยายวิชาการ. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่, 2554.
อัจฉราภรณ์  ศรีสฤงฆาร. การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพยากร์ อายุน้ำยาล้างฟิล์มในการควบคุมคุณภาพเครื่องล้างฟิล์มอัตโนมัติของห้องถ่ายภาพรังสีเต้านม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่. ภาคนิพนธ์วิทยาศาสตร์บัณฑิต(รังสีเทคนิค)คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.2547.http://www.fujifilm.com/products/medical/technologies/edr/.

***********************************